‘RSV’ โรคที่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้
category: Health
tag: RSV นายแพทย์วัศพล Respiratory Syncytial Virus
หลายคนเข้าใจผิดว่า RSV คือโรคของเด็ก แต่ความจริงแล้ว ผู้ใหญ่ก็เป็นโรค RSV ได้ ทั้งยังรุนแรงและอันตรายกว่าเด็ก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและมีโรคประจำตัวร่วม พบอัตราเสียชีวิตสูงถึง 12% เทียบกับเด็กที่อัตราเสียชีวิต 0.12%
นายแพทย์วัศพล กุลธวัชวิชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ ศูนย์ Thammasat Lifestyle And Wellness Medical Center โรงพยาบาลธรรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงการเดินทางและท่องเที่ยว ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและแนวทางป้องกันการเกิดโรค RSV ในงาน “โอ-ลั้นลามาร์เก็ต ปล่อยพลังคนวัยซ่า” ที่เอ็มควอเทียร์ เมื่อเร็วๆ นี้
โรค RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เช่น หลอดลม หลอดลมฝอย และปอด โรคนี้ติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น โต๊ะ เก้าอี้
ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ไข้ เจ็บคอ และไอ แต่เมื่อโรคลุกลามลงไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง อาการจะรุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบ โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าและมักมีโรคประจำตัวร่วม ปัจจุบันโรค RSV ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งหากเกิดในผู้สูงอายุอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต3 โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 12% เทียบกับเด็กที่มีอัตราการเสียชีวิตเพียง 0.12% ทำให้ผู้สูงอายุต้องป้องกันโรค RSV นี้
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม RSV มักเป็นที่รู้จักในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ นั่นเพราะว่าเด็กมักมีการแพร่เชื้อจากการสัมผัสในโรงเรียน และนำเชื้อมาให้คนในบ้าน รวมถึงผู้สูงอายุและผู้ปกครอง อีกทั้งผู้ใหญ่มักไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค RSV โดยส่วนใหญ่จะไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือโควิดแทน
สำหรับวิธีป้องกัน RSV ในผู้ใหญ่ นายแพทย์วัศพล กล่าวว่า โรค RSV มีการแพร่กระจายเชื้อโรคในลักษณะเดียวกับการแพร่เชื้อของโควิด การป้องกันโรค RSV จึงสามารถทำได้โดยการล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอาการรุนแรงของโรคและลดโอกาสการติดเชื้อที่รุนแรง
นายแพทย์วัศพล ยังทิ้งท้ายเคล็ดลับการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยให้ห่างไกลโรค เริ่มจากการจัดการกับความเครียดก่อน เพราะ “ความเครียด” ของร่างกายคือ ปัจจัยหลักที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนกำลังลง เมื่อรับมือกับความเครียดได้ และพักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมรับวัคซีนป้องกันโรค ก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้เรามีกำลังต่อสู้กับโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพของแต่ละคนได้อย่างตรงจุด
ผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรค RSV สามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับโรค RSV การป้องกันโรค และวัคซีนที่เกี่ยวข้องได้
ข้อมูลอ้างอิง
1. Chuaychoo B;International Journal of Infectious Diseases;2021;110; 237–246
2. Naorat S;The Journal of Infectious Diseases;2013;208;S238-S245
3. Kaler, J. et al. (2023). Cureus, 15(3), e36342. https://doi.org/10.7759/cureus.36342
4. CDC. (2024, July 3). RSV in adults. Respiratory Syncytial Virus Infection (RSV). https://www.cdc.gov/rsv/older-adults/index.html
5. Dhabhar FS;Neuroimmunomodulation;2009;16;300–317
|