สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ ASA CREW เตรียมพร้อมเข้าสู่ประเทศไทย 4.0
category: News & Event
tag: ASA APPLICATION ASA CREW ประเทศไทย 4.0 Thailand 4.0 นายกสมาคมสถาปนิกสยาม
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ปรับตัวรับยุคดิจิทัล เดินหน้าเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ ASA CREW เพื่อเป็นสื่อกลางในรูปแบบ ศูนย์รวมข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมและสังคม (Content Development Center)
ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไป และสมาชิกฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ เข้าถึงวงการสถาปนิกอย่างแท้จริง พร้อมนำองค์ความรู้มาใช้ช่วยเหลือสังคมเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ หวังร่วมปฏิรูปประเทศ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศเทียบเท่าสากล
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 83 ปี ของสมาคมสถาปนิกสยาม ถือได้ว่าสมาคมฯ เป็นศูนย์รวมของคนมีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ผลงานต่างๆ ที่เหล่าสถาปนิกได้สร้างสรรค์ ไม่ได้มีเพียงการสร้างบ้าน หรือ อาคาร แต่ยังเกี่ยวข้องกับสังคมในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง การจัดการสิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยรวม สมาคมฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญ ในการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ ต่อสังคม และประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ในการนำองค์ความรู้จากสถาปนิกที่อยู่ในสมาคมมาใช้ในการช่วยเหลือสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้อยู่ในกรอบของมาตรฐานความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ร่วมแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ของประเทศ
อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมฯ
นอกจากนี้ สมาคมสถาปนิกฯ ยังมีการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ประสานความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพอื่นๆ เพื่อผนึกกำลังให้มีการเติบโตขึ้นในสายอาชีพ ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการก่อสร้างและการพัฒนาเมือง สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ฯลฯ รวมทั้งกลุ่มย่อยอื่นๆ ที่กระจายตัวออกไป อย่างเช่น แลนด์สเคป ผังเมือง อินทีเรีย ที่ผนึกเข้ามาโดยผ่านช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ของทางสมาคมฯ อีกด้วย
กัญญา ไรวินท์ พิธีกรดำเนินรายการ และตัวแทนคนในสังคม ที่สามารถเข้าถึงสถาปนิกได้ง่ายขึ้น ผ่านช่องทางการสื่อสารใหม่
เนื่องด้วยหลายครั้งที่เกิดวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาเมืองในเรื่องของความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในเชิงสาธารณะ แต่สมาคมกลับขาดสื่อกลางที่จะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มาใช้เพื่อให้ความกระจ่างต่อสังคมได้ เพราะสื่อที่เราเคยมีอยู่ในมือนั้นค่อนข้างล้าสมัย จากเหตุผลดังกล่าวเป็นที่มา และ จุดเริ่มต้น ของแนวคิดในการปฏิรูปการสื่อสารของสมาคมสถาปนิกสยาม ASA CREW จึงจะมีบทบาทที่สำคัญในการนำข้อมูลที่ได้รับทราบ มาวิเคราะห์ร่วมกับองค์ความรู้ และส่งต่อประเด็นความรู้นั้นไปยังบุคคลทั่วไป” นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวในที่สุด
ด้าน ผศ.ดร. กมล จิราพงษ์ กรรมการกลาง สมาคมสถาปนิกสยามฯ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของสมาคม เผยถึงแนวคิดและช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ของ ASA CREW “ ทางสมาคมต้องการสร้างพื้นที่สื่อกลางที่จะทำให้สถาปนิกและคนทั่วไปได้เข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในด้านสื่อ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” เริ่มจากการปฏิรูปสื่อวารสารของทางสมาคมซึ่งจะเป็นแจกฟรี (Free Copy) ที่ออกทุก 2 เดือน โดยมีการปรับเนื้อหา จากเดิมที่เป็นความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่เข้มข้น เราได้เพิ่มองค์ความรู้ที่คนทั่วไปจะได้รับประโยชน์ ในสไตล์ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย เช่น คอลัมน์ถาม-ตอบ Q&A ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับบ้านและอาคารต่างๆ หรือ คอลัมน์ที่เผยให้เห็นถึงมุมมองของลูกค้า ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้บริการสถาปนิก ฯลฯ ในส่วนของจำนวนการพิมพ์ เราเพิ่มจาก 6,000 ฉบับ เป็น 40,000 ฉบับ ด้านช่องทางการกระจายวารสารแจกฟรีเน้นการเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย อาทิ สถานที่วาง ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดในมหาวิทยาลัย ร้านกาแฟ ล็อบบี้โรงแรม พื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังมีแผนนำการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ในโลกยุค “ดิจิทัล” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ เพื่อกระจายข้อมูล ความรู้ต่างๆ เข้าถึงผู้คนในสังคมได้ง่ายขึ้น มากขึ้น ภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ASA CREW Facebook พื้นที่การสื่อสารที่อัพเดทได้ตลอดทุกวัน สำหรับคนที่ชอบเกี่ยวกับงานออกแบบ เน้นเนื้อหาเบาๆ ที่มีสาระ อ่านง่าย กระชับ เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมดีๆ หรือมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการออกแบบที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนจากทั่วประเทศ
ASA APPLICATION ที่ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนสมาชิกของสมาคมและสมาชิก ASA CREW ที่รวบรวมวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ มาไว้ใน APP เดียว เพื่อความสะดวกสบายในการสั่งซื้อ เพียงใส่หมายเลขรหัสประจำตัวสถาปนิกเข้าไปเพื่อระบุตัวตน ก็จะได้ส่วนลดพิเศษต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างสมาคมและสถาปนิกที่เป็นสมาชิก เวลามีการเสวนา สัมมนา อบรบ หรือ มีสถาปนิกต่างชาติเข้ามาให้ความรู้ ก็จะสามารถแจ้งข่าวโดยตรงเข้ามือถือได้เลย ทั้งเรื่องของวัน-เวลา สถานที่จัด หรือแม้แต่การสำรองที่นั่ง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android ที่ Google Play และ ระบบ iOS ที่ App Store โดยพิมพ์คำว่า ASA APPLICATION และสำหรับคนที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกกับทางสมาคม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ที่ WWW.ASA.OR.TH โดยเว็บไซต์ใหม่ของสมาคม มีการเติมส่วนของสังคมเข้าไป เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงสถาปนิกได้ง่ายขึ้น เป็นระบบ Search Engine ที่เรียกว่า Find Architects เพื่อให้สามารถเข้าไปดู Portfolio ผลงานในรูปแบบดิจิทัล และสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทหรือตัวสถาปนิก ก่อนตัดสินใจจ้างออกแบบได้ อีกทั้งยังมีวีดีโอนำเสนอองค์ความรู้ในช่องทาง You Tube เกี่ยวกับ เกร็ดความรู้สถาปัตยกรรม เทคนิคการก่อสร้าง และการออกแบบ รวมไปถึงแผนงานในอนาคตที่สมาคมฯ จะปรับกลยุทธ์ไปเน้นการเป็นศูนย์กลางการสื่อสารกับบุคคลทั่วไปในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างรูปแบบ พร้อมนำเสนอองค์ความรู้ที่แตกต่างออกไปจากเดิมแบบบูรณาการ”
ผศ.ดร. สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย
โดย ผศ.ดร. กมล จิราพงษ์ กล่าวปิดท้ายว่า การปฏิรูปด้านการสื่อสารของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในครั้งนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับวิชาชีพสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญ และนำวิชาชีพของสถาปนิกเข้าใกล้คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ให้เกิดเป็นมิติใหม่ๆ ด้านองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์อันสูงสุดแก่สังคม พร้อมเข้าสู่โครงสร้าง “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นการขับเคลื่อนและพัฒนาทุกภาคส่วนของประเทศด้วย “นวัตกรรม”
|