ไทรอยด์กับการผ่าตัดแผลเล็ก
category: Health
tag: ไทรอยด์
ไทรอยด์ เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ที่อยู่กลางคอ รูปร่างคล้ายผีเสื้อ คือมีซีกซ้ายและซีกขวา มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อควบคุมระบบสมดุลในร่างกาย
โรคของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยคือ ภาวะต่อมไทรอยด์ที่ทำงานหนักเกิน ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคคอพอกและโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยคนไข้ไทรอยด์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังรักสวยรักงามอยู่ วิธีการรักษาไทรอยด์โดยการผ่าตัดผ่านทางปากทำให้ไม่มีแผลภายนอกจึงเป็นทางเลือกที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้น
นพ.ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล แพทย์ด้านการผ่าตัดไทรอยด์และพาราไทรอยด์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคไทรอยด์สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มไทรอยด์ชนิดไม่เป็นพิษ แต่มีก้อนโตผิดปกติที่กลางคอ โดยสามารถสังเกตง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง คือ เวลากลืนน้ำลาย ก้อนจะเคลื่อนที่ขึ้น - ลง ตามการกลืน ซึ่งก้อนนี้จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่ โดยการตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณลำคอ และเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นมะเร็งไทรอยด์ ควรรีบได้รับการผ่าตัดรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย
2. กลุ่มไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งภาวะของกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคเกรฟวส์ (Graves’ disease) เป็นโรคเกี่ยวกับภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง ทำให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติ โดยสามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง คือ จะมีอาการคอโตทั่วๆ ทั้งสองข้าง ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ตาโปน หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากก้อนเนื้องอกต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะต่างจากโรคเกรฟวส์คือ ส่วนของเนื้องอกจะเป็นก้อนที่สร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติแต่ต่อมไทรอยด์เป็นปกติดี
โดยส่วนมากนั้นวิธีการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษจะใช้ยารักษาก่อน รวมถึงมีวิธีการกลืนแร่รังสีที่สามารถรักษาได้เช่นกัน แต่ก็จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดจากสาเหตุ คือ ทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น คอโตมาก หรือไม่สามารถกลืนแร่ได้ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด คือ ก้อนที่ไทรอยด์สงสัยว่าเป็นมะเร็ง ก้อนโตมากจนกดเบียดการกลืนหรือการหายใจ ก้อนไทรอยด์เป็นพิษที่รักษาด้วยยาหรือกลืนแร่ไม่ได้ผล ซึ่งปัจจุบันวิธีการผ่าตัดไทรอยด์แบ่งเป็นสองวิธีใหญ่ๆ คือ
1. การผ่าตัดแบบเปิด คือมีแผลที่กลางคอ เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่มีมานาน โดยจะผ่าบริเวณกลางคอขนาดประมาณ 6 - 8 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน วิธีนี้ถือเป็นวิธีการผ่าที่ดี เพราะทำได้ง่าย และสามารถผ่าได้ทุกขนาดไม่ว่าจะขนาดใหญ่เท่าไร แต่ข้อเสียเดียวของวิธีการนี้คือ จะมีแผลอยู่กลางคอ ซึ่งการมีแผลเป็นที่กลางคอในผู้ป่วยบางรายที่ให้ความสำคัญกับการมีแผลเป็นที่เห็นได้ชัดบริเวณกลางคอ จะทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันและจำเป็นต้องสวมใส่ผ้าพันคอ หรือเสื้อผ้าที่ปกปิดบริเวณบาดแผลไว้ตลอด
2.การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง ซึ่งสามารถผ่าเข้าได้จากหลายทาง เช่น ทางรักแร้ ทางลานนม ทางหลังหู แต่วิธีการใหม่ที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ คือ การผ่าตัดไทรอยด์ทางปาก โดยข้อดีคือ ไม่มีแผลเป็นภายนอก ซึ่งบาดแผลจะถูกซ่อนไว้ในปาก และสามารถใช้กล้องส่องขยายเพื่อให้เห็นเส้นเสียงและต่อมพาราไทรอยด์ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้โอกาสในการรักษาเส้นเสียงเพื่อป้องกันเสียงแหบเหมือนกับการผ่าตัดแบบเปิด
ทั้งนี้ เราสามารถผ่าส่องกล้องไทรอยด์ทางปากได้ทุกโรคไม่ว่าจะเป็น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษไทรอยด์ไม่เป็นพิษ โรคมะเร็งไทรอยด์ แต่ขนาดก้อนเนื้อที่จะผ่าควรมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 6 - 8 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นถ้าพบเจอก้อนที่กลางคอที่ขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วย มีโอกาสในการเลือกวิธีการผ่าตัดรักษาได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาจะต้องเลือกว่าคนไข้เหมาะสมกับการผ่าตัดชนิดไหนที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สำหรับขั้นตอนวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางปาก คือ กรีดบริเวณริมฝีปากด้านหน้าฟันขนาดไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร เพื่อใส่เครื่องมือขนาดเล็กลงไปในปาก และทำการผ่าตัดก้อนเนื้อออกมา ใช้เวลาในการผ่าตัด โดยเฉลี่ยประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละราย หลังจากการผ่าตัดคนไข้ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2 วัน และพักอยู่บ้านประมาณ 3 - 4 วัน จึงจะไปทำงานได้ อาการช่วงแรกจะรู้สึกคอตึงๆ และคางบวมเล็กน้อย ส่วนภาวะแทรกซ้อนจะเหมือนการผ่าตัดแบบอื่นๆ เช่น อาจมีภาวะเสียงแหบได้ ประมาณ 1 - 2% มีแคลเซียมต่ำได้ในกรณีที่ผ่า 2 ข้างเช่นเดียวกัน
|