วัยทอง? เตรียมตัวและรับมืออย่างชาญฉลาด
category: Health
tag: วัยทอง Menopause
มีผู้หญิงเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะก้าวผ่านช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือเรียกกันสั้นๆว่าวัยทองโดยไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต
ช่วงวัยหมดประจำเดือน จะมีอาการที่เป็นกันอย่างแพร่หลายคือการลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิด อาการร้อนวูบวาบ, เหงื่อซึมตลอดเวลา, สมรรถภาพทางเพศลดลง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, อารมณ์แปรปรวน, และผลข้างเคียงระยะยาวอย่างเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคกระดูกบางและกระดูกพรุน
แพทย์หญิงปรียานาถ กำจรฤทธิ์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยสาขาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา จากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้แนะนำว่า การเปิดใจและเตรียมตัวที่จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตสามารถช่วยให้ผู้หญิงก้าวผ่านช่วงวัยหมดประจำเดือนโดยไม่ดูโทรมหรือได้รับผลกระทบระยะยาว
“ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จะอายและกลัวการเปลี่ยนแปลง” แพทย์หญิง ปรียานาถกล่าว “เพราะวัฒนธรรมไทยถูกกำหนดมาให้ผู้หญิงเราต้องสงวนท่าทีไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้เกิดความกดดันโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเรารู้จักการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ของชีวิต เราก็สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างสบายกว่าที่คิดไว้”
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับรู้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพื่อที่เราจะเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงเราควรเริ่มยอมรับว่า เมื่อวัยทองมาเยือนร่างกายและจิตใจเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน ถ้าเราเตรียมพร้อมอย่างดี เราก็จะผ่านช่วงเวลานี้ได้อย่างมีความสุข
วัยทองอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวในขณะที่คุณยังอ่อนเยาว์สมบูรณ์แข็งแรง แต่ที่จริงแล้วมันเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดในการเริ่มต้นรับมือ
เราสนับสนุนให้ผู้หญิงเริ่มสำรวจอุปนิสัยการรับประทานอาหาร, การออกกำลังกาย, และการพักผ่อนนอนหลับของตัวเอง เพื่อปรับเปลี่ยนและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกายในช่วงวัยทอง
แพทย์หญิงปรียานาถกล่าวเสริมว่า “การมีสุขภาพที่ดีเป็นค่านิยมที่ดีในสังคมปัจจุบันที่ทำให้เราหันมาดูแลตัวเองให้ดูดีและแข็งแรงอยู่เสมอ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาจากอินเตอร์เนตก็ช่วยให้เราได้รับความรู้ที่ดีอีกด้วย”
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งดีๆที่ทุกคนควรปฏิบัติ แต่เราก็อยากแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีแบบละเอียดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในการตรวจนี้จะมีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย (ประกอบไปด้วย Estradiol, Progesterone, LH, FSH) เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติตัวต่อไปในอนาคต
การวางแผนสร้างสมดุลของชีวิตโดยการรับประทานอาหาร, การออกกำลังกาย, และการนอนหลับพักผ่อนอย่างถูกวิธี จะช่วยลดกระบวนการการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนเสริมได้
|