สมาคมแพทย์ผิวหนังฯแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น
category: Health
tag: สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โรคไข้กาฬหลังแอ่น ยาปฏิชีวนะ รศ.นพ.นภดล นพคุณ
มาคมแพทย์ผิวหนังฯ มีความเป็นห่วงคนไทยป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น เผยวิธีดูแลป้องกันให้ถูกวิธี โอกาสที่จะเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้จะน้อยลง หลังจากช่วงนี้พบผู้ติดเชื้อและมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทย
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีผู้ป่วยป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น และมีการระบาดที่จังหวัดสตูลนั้น โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบเข้ากระแสเลือด ผู้ป่วยบางคนที่ติดเชื้อชนิดนี้ จะมีอาการที่รุนแรง และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันโรคนี้มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษา และมีวัคซีนสำหรับป้องกัน โดยสำหรับในประเทศไทย พบได้เฉลี่ย 20-50 รายต่อปี และจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างคงที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ในปี พ.ศ. 2554 พบผู้ป่วยจำนวน 22 ราย เสียชีวิต 2 ราย สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria meningitides ประมาณ 10 % ของคนทั่วไป จะตรวจพบเชื้อชนิดนี้เจริญอยู่ที่หลังโพรงจมูก โดยไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ เรียกว่าเป็นพาหะโรค หากเป็นสถานที่ ที่มีคนอยู่กันอย่างแออัด เช่น ค่ายทหาร หอพัก อาจพบผู้ที่เป็นพาหะโรคของเชื้อได้มากขึ้น
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
“การติดเชื้อจะเกิดเฉพาะจากคนสู่คน ไม่มีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหรือเป็นแหล่งรังโรค การติดต่อเกิดโดยการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือของผู้ที่เป็นพาหะ หรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปากของเรา ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่เกิดภาวะติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จะมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยมากกว่า 400 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปๆที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่”
อาการของโรค สามารถพบอาการหลัก ๆ ได้ 3 แบบ คือ 1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 2. เยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมกับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 3. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยจะมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย โดยอาการจะเป็นอยู่ 1-2 วัน แล้วตามด้วยการเกิดผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างจำเพาะของโรคนี้ คือเริ่มต้นจะเป็นผื่นแบบแบนราบสีแดงจางๆ ต่อมาจะเกิดจุดเลือดออกเล็กๆ สีแดงเข้ม ขนาด 1-2 มิลลิเมตร ในบริเวณผื่นเหล่านี้ โดยมักพบตามลำตัว ขา และบริเวณที่มีแรงกดบ่อย ๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า บริเวณอื่น ๆ ที่จะพบได้คือ ใบหน้า มือ แขน เยื่อบุตา เยื่อบุช่องปาก จุดเลือดออกเหล่านี้บางครั้งอาจกลายเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่มีเลือดออก ซึ่งอาจเกิดการเน่าและกลายเป็นเนื้อตายได้ หากผู้ป่วยเกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ก็จะมีอาการปวดต้นคอ คอแข็ง หลังแข็ง และซึมร่วมด้วย การวินิจฉัย สามารถทำได้โดย การเจาะเลือด เจาะดูดนำไขสันหลัง หรือตัดชื้นเนื้อบริเวณผื่น ไปตรวจหาเชื้อโดยการส่งย้อมสี หรือเพาะเชื้อ ส่วนการรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะควบคุมโรคได้หลายชนิดและมีประสิทธิภาพดี ยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่ ยาในกลุ่ม เพนนิซิลิน (penicillin) เช่น เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) รุ่นที่ 3 เป็นต้น
ผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างจำเพาะของโรคนี้ คือเริ่มต้นจะเป็นผื่นแบบแบนราบสีแดงจางๆ
สำหรับผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีอัตราตายประมาณ 5% โดยหากมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยจะมีอัตราตายสูงขึ้นเป็น10-40% แต่หากผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดชนิดรุนแรงมีจะมีอัตราตายสูงถึง 70-80%
คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้นและการป้องกันโรค หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากมีบุคคลได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน รวมทั้งผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรรับประทานยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันการติดเชื้อ และหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นควรได้รับวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับบุคคลทั่วไป การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
อย่าลืมล้างมือบ่อยๆ
|