ศธ. ลงพื้นที่รุกปรับโครงสร้างหนี้ครูภาคเหนือ ระดมกูรูและสถาบันการเงินแก้หนี้ครู พุ่งเป้าลดหนี้จริงกว่า 4,040 ล้านบาท
category: News & Event
tag: กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3
มุ่งเน้นเรื่องการเร่งสร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ในภาคเหนือ ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยตั้งเป้าหมายไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนีเพื่อลดปัญหาหนี้สินครูในภูมิภาคนี้กว่า 4,040 ล้านบาท รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินอย่างเข้มแข็ง มั่นใจข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริงจากมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าผลจากการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยสู่ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ตั้งเป้าหมายแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทสำคัญในการขยายผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคทุกกลุ่มที่ประสบปัญหาหนี้สินได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนด้านปัญหาหนี้วิกฤตกลุ่มถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดีทางกฎหมาย และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยการให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มกำลัง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ผลักดันกลไกเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และจัดตั้งสถานีแก้หนี้ร่วมช่วยแก้ปัญหาลดหนี้สิน รวมถึงการให้ความรู้ทางด้านวินัยการเงินและการลงทุน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับครูไทยได้มีสภาพคล่องและสุขภาพทางการเงินที่ดี ซึ่งได้จัดไปแล้ว 2 ภูมิภาค คือ ครั้งที่ 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 18 - 19 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับกลุ่มบุคลากรครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น ตามด้วยครั้งที่ 2 จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 11 - 12 มีนาคม 2566 ที่ภาคตะวันออก สำหรับเครือขายครูใน 8 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ซึ่งมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมงานเพื่อรับบริการการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมไปแล้วกว่า 3,816 ราย และที่สำคัญสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกับกลุ่มลูกหนี้วิกฤติได้กว่า 959,490,589.54 บาท และครั้งล่าสุดนี้ที่กลุ่มภาคเหนือ
นายอรรถพล สังขวาสี กล่าวต่อว่า การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย สำหรับภาคเหนือในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 2,698 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 4,040 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤติ 380 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 315 ล้านบาท ซึ่งจะพุ่งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤติเป็นสำคัญเหมือนเช่นเคย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จำนวนกว่า 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของหนี้สินครูทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ตั้งสถานีแก้หนี้ครูที่เข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่อย่างทั่วถึง ฯลฯ ซึ่งได้ดำเนินการมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในภาคเหนือครั้งนี้ จึงเป็นการลงพื้นที่เพื่อตอกย้ำความเอาจริงเอาจังในการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ในเชิงรุก เพื่อช่วยให้ครูในกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินอย่างครบวงจรมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า กระบวนการดำเนินงานนี้จะช่วยลดหรือปลดหนี้ครูไทยที่มีปัญหามายาวนานได้อย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้จริง เพื่อยกระดับให้ครูไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่วิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับกิจกรรมภายในงานเป็นการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบแบบครบวงจรในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีหน่วยงานเครือข่ายที่เชี่ยวชาญเข้าร่วมจัดกิจกรรม โดยได้มีการให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดีและการปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน สำหรับลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤติและกลุ่มทั่วไป เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้มีเงินเดือนเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และควบคุมยอดหนี้ใหม่ให้ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ โดยพันธมิตรสถาบันการเงินได้มอบสิทธิพิเศษช่วยเหลือลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤติ ทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก เช่น การผ่อนชำระ พิจารณาขยายเวลาไม่เกิน 10 ปี ตั้งพักดอกเบี้ยค้างชำระ, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ 3 ปีแรก, ผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดทั้งจำนวนดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ การปลดภาระหนี้ค้ำประกัน เงินต้นคงเหลือแบ่งชำระตามจำนวนผู้ค้ำประกัน, ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระให้เป็นพิเศษ เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีการบริการให้คำปรึกษาและวางแผนการกู้ยืม การออม และการลงทุน รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน จากสถาบันการเงินหลายหน่วยงานที่มีกูรูผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและอบรมเชิงรุกเป็นพิเศษให้กับกลุ่มลูกหนี้ครูทั่วไปและครูที่ยังไม่มีหนี้ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ในอนาคตและเป็นการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เรื้อรังมานานแบบบูรณาการและครบวงจรที่สุด
|