GSK รณรงค์ป้องกันโรคงูสวัด…ภัยเงียบที่ต้องระวังเมื่อเข้าสู่วัย 50+
category: Health
tag: #งูสวัดสกัดได้ #GenยังActive #GenYoungActive โรคงูสวัด
GSK จัดประชุมวิชาการ “THE TIME IS NOW: SHINGLES PREVENTION” รณรงค์ป้องกันโรคงูสวัด
ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่ไม่ใช่เฉพาะผื่นผิวหนัง แต่ยังส่งผลต่อระบบประสาทและอาจทำให้มีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทยาวนานหลายปี รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากผลการศึกษาพบว่า วัย 50+ มากกว่า 90% มีความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด และมีอาการรุนแรงและนานกว่าคนอายุน้อย
พญ. บุษกร มหรรฆานุเคราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK กล่าวว่า “GSK ในฐานะบริษัท Biopharma ซึ่งมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความสามารถของบุคลากร มาขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ได้จัดงานประชุมวิชาการ “THE TIME IS NOW: SHINGLES PREVENTION” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ป้องกันโรคงูสวัด โรคอันตรายที่วัย 50 ปีขึ้นไปต้องให้ความสำคัญ เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรค บางรายอาจมีอาการปวดปลายประสาทแสบร้อนเป็นเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคงูสวัดเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน ผู้ใหญ่วัย 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”
โรคงูสวัดเกิดจากไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส
โรคงูสวัดคือ โรคที่เกิดจากไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยมากกว่า 90% ของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและเคยได้รับเชื้อ VZV หรือเคยเป็นโรคอีสุกอีใส จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด เนื่องจากหลังจากเกิดโรคอีสุกอีใสและอาการของโรคหายดีแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันตกลง จะทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวกลับมาก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัด
คนกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงต่อโรคงูสวัด
กลุ่มผู้สูงอายุ โดยพบว่าคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดงูสวัดสูงขึ้น เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลง
กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มที่ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างโรคเอสแอลอี ผู้ทีติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
อาการปวดของโรคงูสวัด
เมื่อเกิดโรคงูสวัด เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายตามเส้นประสาทรับความรู้สึก จึงทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วยเสมอ อาจจะเกิดชั่วคราวหรือจะเกิดรุนแรงจนเป็นถาวร โดยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด หลังจากผื่นงูสวัดหายแล้วยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดแบบเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดเจ็บแบบแปร๊บ ๆ ตามแนวเส้นประสาทหลังจากที่ผื่นหรือตุ่มน้ำของงูสวัดหายไปแล้ว
ความอันตรายของโรคงูสวัด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
โรคงูสวัด ไม่ได้มีเฉพาะผื่นผิวหนัง แต่ยังส่งผลต่อระบบประสาทและก่อให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บางรายอาจปวดได้นานหลายปี โดย พบว่า 5-30% ของผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด ยังคงมีอาการปวดเส้นประสาทนานเกิน 3 เดือน แม้ว่าผื่นงูสวัดจะหายแล้ว และผู้สูงอายุจะมีอาการที่รุนแรงและนานกว่าคนอายุน้อย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ อวัยวะบริเวณนั้นไม่มีแรง และขยับหรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นได้น้อยลง
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา และภาวะแทรกซ้อนทางหู โรคหลอดเลือดสมอง โรครัมเซย์ฮันท์ซินโดรม เป็นต้น ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เมื่อเป็นโรคงูสวัดอาจเป็นรุนแรงและแพร่กระจายได้ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบน้อย เช่น สมองและปอดอักเสบ
โรคงูสวัด สามารถป้องกันได้โดย 1.การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 2.การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 3.การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง 4.การรับการฉีดวัคซีนป้องกัน
|