อินไซด์การจัดงบ 155 ล้าน สร้างอากาศสะอาดจากกองทุน ววน. กลไกสู้วิกฤตมลพิษฝุ่นจิ๋ว และภารกิจคืนลมหายใจให้ชาวล้านนา - คนกรุงฯ
category: News & Event
tag: PM 2.5
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จากผลการรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ของเมืองสำคัญทั่วโลก
เพื่อจัดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด และดีที่สุดในแต่ละวันตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 กรุงเทพมหานครถูกจัดอยู่อันดับที่ 7 ของเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด วัดได้ 174 AQI US ซึ่งเป็นระดับคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อทุกคน ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 20 วัดได้ 116 AQI US ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ และคาดว่าสถานการณ์ค่า PM2.5 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้ผู้คนเกิดความวิตกและถามหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่เพียงการไล่แก้ปัญหาไปทีละจุด และเฝ้ารอให้ปัญหาฝุ่นจางหายแล้ววนกลับมาตามฤดูกาล
ในปัจจุบันหลายภาคส่วนได้เร่งระดมแนวทางเพื่อหาทางออกปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน ที่น่าสนใจคือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กว่า 180 หน่วยงาน รวมทั้งจัดทำนโยบายและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อกำหนดกรอบการทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ โดยแผนด้าน ววน. ปี 2566-2570 มี 4 ยุทธศาสตร์หลัก และประเด็นด้านมลพิษทางอากาศอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่าด้วยการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถแก้ปัญหาท้าท้าย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นในปี 2566-2567 สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 155 ล้านบาท เพื่อผลักดันการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศเรื่องฝุ่น PM 2.5 พร้อมร่วมกันกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญร่วมกันของทุกภาคเพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
จริงหรือที่เราจะหาทางออกเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 นี้ไม่ได้ ?
ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และเป็น 1 ใน 8 ตัวชี้วัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของกรมควบคุมมลพิษ สำหรับสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 มีหลายสาเหตุ แต่จากการศึกษาและงานวิจัยที่ผ่านมา สามารถจำแนกแหล่งกำเนิดสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ จากสาเหตุของการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ คือ การเผาในที่โล่งทั้งจากพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า เครื่องยนต์ในภาคการคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และกิจกรรมในครัวเรือน รวมถึงฝุ่นที่ลอยข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังมีการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทุติยภูมิ คือ ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีหรือการเปลี่ยนรูปในบรรยากาศของก๊าซบางประเภท เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของคน เช่น การใช้ปุ๋ยยูเรีย การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ เป็นต้น
แต่ที่น่ากังวล คือ ฝุ่นจิ๋วที่มีอานุภาพร้ายแรงต่อร่างกายไม่น้อยตามขนาด เพราะสามารถผ่านการกรองของขนจมูกไปสู่ปอดชั้นในได้ แล้วยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายเข้าสู่ปอดของเรา แล้วจะค่อยๆ ออกฤทธิ์ หลังเกิดการสะสมในจำนวนมากขึ้น จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า หากร่างกายได้รับปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานจะมีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดสูงถึงร้อยละ 25 โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจเฉียบพลันร้อยละ 17 การเกิดสโตรก (stroke) ร้อยละ 16 และโรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 15
สกสว. ในฐานะภาคีเครือข่ายคณะทำงานฯ จึงได้จัดสรรงบประมาณผ่านแผนงาน “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” จำนวน 155 ล้านบาท ให้กับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์งานวิจัยเร่งด่วนและนวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีเป้าหมายลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่เป้าหมายวิกฤติที่มีค่าฝุ่นสูง คือ จ.เชียงใหม่และกรุงเทพมหานครโดยได้สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนวิจัยและการนำงานวิจัยพร้อมใช้ไปแก้ปัญหาฝุ่นอย่างเร่งด่วน ด้วยการร่วมกันคลี่ปัญหาตลอดห่วงโซ่ การรับโจทย์และความต้องการจากหน่วยงานภาคีกว่า 20 หน่วยงาน และการร่วมกันสร้างกรอบการแก้ปัญหาในทุกมิติ เพื่อบูรณาการการทำงานทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม สำหรับสร้างนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ของการแก้ปัญหาในพื้นที่
โดยมีประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหา 5 ประเด็น คือ การลดไฟในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า การลดฝุ่นจากภาคคมนาคม การลดฝุ่นควันข้ามแดน และการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการคิดตามสถานการณ์และตัดสินแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีในทุกระดับตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ คือการพัฒนากลไกการจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ เพื่อทำให้เกิดการร่วมทุนจากภาคเอกชนและภาคประชาชนสำหรับตอบแทนผลประโยชน์ให้กับชุมชนที่มีแผนการจัดการป่าร่วมกับภาครัฐและมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูแบบมีส่วนร่วม เพื่อทำให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการดูแลรักษาป่าและสามารถบริหารจัดการไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การส่งเสริมอาชีพเพื่อลดการเผาป่า และการส่งเสริมเรื่องคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน
ส่วนการลดใช้ไฟเผาในพื้นที่เกษตรได้ทดลองขยายผล “การปรับเปลี่ยนเป็นวิถีเกษตรไม่เผา” ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมักใช้วิธีเผาเพื่อเคลียร์แปลงปลูกและเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว มาเป็นการปลูกผลไม้ ไผ่และผักที่มีมูลค่าสูง ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการสำเร็จในหลายพื้นที่นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดด้านการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรที่ไม่เผาด้วยระบบติดตามย้อนกลับเพื่อตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกรายแปลงด้วยระบบดาวเทียม และกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนามาตรฐาน GAP PM 2.5 Free เพื่อรับรองผลิตผลจากวิธีการปลูกที่ไม่ใช่ไฟ ตลอดจนการจัดการเศษวัสดุเกษตรให้นำไปใช้เป็นชีวมวลสำหรับโรงผลิตไฟฟ้าอย่างครบวงจร โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการลดฝุ่นในภาคเกษตร ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) จะถูกถ่ายทอดเพื่อขยายผลด้านการผลิตและด้านการเกษตรยั่งยืนภายในประเทศลาวและเมียนมาร์ สำหรับปริมาณฝุ่นควันข้ามแดน
นอกจากนี้ได้มีการศึกษาแนวทางการลดฝุ่นจากระบบคมนาคมขนส่ง โดยทดลองใช้เครื่องตรวจควันดำระยะไกลจากกล้องจราจร และพัฒนาระบบติดตามและคัดกรองรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้ปริมาณรถที่ปล่อยควันดำในพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เปราะบางของกรุงเทพมหานครลดลง ส่วนประเด็นที่สำคัญที่สุด คือการบูรณาการระบบข้อมูลสารสนเทศที่กระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดเป็นฐาน Big Data ที่ครอบคลุมข้อมูลทุกมิติ เช่น ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา การใช้ประโยชน์ที่ดิน การขออนุญาตเผาจากชุมชน ค่าฝุ่น จุดเกิดไฟ พื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ ฯลฯ สำหรับใช้วางแผนรับมือและตัดสินใจแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างทันท่วงที สำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับชุมชนพื้นที่ โดยทำให้สามารถเห็นข้อมูลที่ถูกต้อง ติดตามสถานการณ์ มีเครื่องมือวิเคราะห์เขตประสบมลพิษทางอากาศ คาดการณ์การเผชิญเหตุ ออกแบบระบบการป้องกันตลอดจนวิธีการเยียวยาผลกระทบด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
สำหรับความคืบหน้าของภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงกฎหมายและนโยบายที่สำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ที่ทางสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... จากการยกร่างของรัฐบาล และอีก 6 ฉบับจากพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของประเทศ โดยสาระสำคัญของเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... เป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่และการใช้เครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์แเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน
แม้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง จนเชื่อได้ว่าหลายคนกำลังเฝ้ารอการกลับมาของอากาศบริสุทธิ์ ดังนั้นนักวิจัยและภาคีเครือข่ายพร้อมร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ววน. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ดี การวิจัยอย่างเดียวคงไม่พอ อาจต้องมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยกัน โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น ให้สามารถยอมรับและได้รับการชดเชยแบบ win -win เพื่อไปสู่การ win ร่วมกันของประเทศและภูมิภาคที่จะมีอากาศสะอาด คุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
|