อัลไซเมอร์ รู้ก่อนได้ด้วยการตรวจเลือด
category: Health
tag: อัลไซเมอร์
พบผู้สูงอายุในไทยเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมต่อปริมาณผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีก 10 ปีข้างหน้า
คุณณิศรา ตีระวัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จาก N Health เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มในการเป็นโรคอัลไซเมอร์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หาย พบมากในผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป โดยฉพาะในเพศหญิงจะพบมากกว่าเพศชาย พบในผู้ที่มีการศึกษาน้อย หรือผู้ที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม อันมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของสมอง พฤติกรรมการรับประทานอาหารรสจัด การออกกำลังกายน้อย และการใช้สมองน้อยเกินไป นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม การรับสารพิษโดยเฉพาะอลูมิเนียมมากเกินไป เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน มาก่อน ตลอดจนผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางสมองก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนทั่วไป
คุณณิศรา ตีระวัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จาก N Health
ถึงแม้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีอาการที่พบร่วมกันหลายประการ อาการแรกสุดที่พบคือ ความเครียด มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นเองตามอายุ อาการที่พบในระยะแรกคือ การสูญเสียความจำ เช่นพยายามจำข้อมูลที่เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้ เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการประเมินพฤติกรรมและทดสอบการรู้ และมักตามด้วยการสแกนสมอง เมื่อโรคดำเนินไประยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีอาการสับสน หงุดหงิดง่ายและก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน เสียความสามารถทางภาษา สูญเสียความทรงจำระยะยาว และเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ เนื่องจากผู้ป่วยเสียการรับความรู้สึก และต่อมาจะสูญเสียการทำงานต่างๆ ของร่างกาย และเสียชีวิตในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ปัจจุบัน N Health Laboratory Services มีห้องแล็ปเพื่อให้บริการในการตรวจหาความเสี่ยงเพื่อป้องกันตนเองก่อนที่จะเป็นโรคนี้
ประกอบกับปริมาณผู้สูงอายุที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจึงเตรียมป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เมื่อผลตรวจออกมาแล้วแพทย์จะให้วิตะมินหรือยาที่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมองซึ่งจะเป็นการป้องกันที่ทำได้ เพราะหากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นแล้วมักเสียชีวิตไม่เกิน 7-10 ปี จากภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อในกระแสเลือด มีผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 3 ที่มีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 14 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย
“สาเหตุและการดำเนินโรคของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนักในปัจจุบัน งานวิจัยบ่งชี้ว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างคล้ายคราบในสมองที่เรียกว่า พลัคและแทงเกิล ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ช่วยชะลอหรือหยุดการดำเนินโรคอย่างแท้จริง เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคความเสื่อมที่รักษาไม่หาย การบำบัดและดูแลผู้ป่วยจึงนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของผู้ดูแลซึ่งมักจะเป็นคู่สมรสหรือญาติใกล้ชิด เป็นที่รับรู้ว่าโรคอัลไซเมอร์นั้นสร้างภาระให้แก่ผู้ดูแลอย่างมาก ทั้งในทางกายสังคม ทางจิต ทางสังคมและเศรษฐกิจ ในประเทศกำลังพัฒนาโรคนี้นับเป็นหนึ่งในโรคที่ก่อค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจต่อสังคมมากที่สุด ”
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเป็นโรคนี้มากกว่า 40 ล้านคน เป็นคนไทยกว่า 6 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 4 เท่า ในปี 2593 โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 มีการทดลองทางคลินิกมากกว่า 500 งานวิจัยเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สรุปว่าประสบความสำเร็จ แม้มีวิธีต่างๆ มากมายที่เชื่อว่าป้องกันโรคอัลไซเมอร์แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยชะลอการดำเนินโรคและลดความรุนแรงของโรคได้ แต่แนวทางแนะนำที่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันและจัดการโรคได้นั้นคือ การกระตุ้นทางจิตใจ (Mental stimulation) การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารครบทุกหมู่
|