ป้องกัน....มะเร็งเต้านม อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องลดความเสี่ยง
category: Health
สำหรับประเทศไทยจากสถิติพบว่ามะเร็งเต้านมทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตในแต่ละปีพุ่งแซงมะเร็งปากมดลูก มีข้อมูลที่น่าสนใจว่ามะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงไทยที่อายุน้อยที่สุด คือ 18 ปี และผู้หญิงไทย 100 คนที่เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับ "เต้านม" มีมากถึง 40% และในบางรายอาจ
สาเหตุของมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่เข้าใจกันมากนัก ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าสิ่งใดที่ป้องกันได้ หลายคนเชื่อว่าการเป็นมะเร็งเนื่องมาจากพันธุกรรม หรือความโชคร้าย แต่จากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ตอนนี้รู้ได้ว่าความเสี่ยงของเราขึ้นอยู่กับส่วนผสมของพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และลักษณะการใช้ชีวิตของเราเอง บางสิ่งสามารถควบคุมได้ ดร.โจแอนนา โบเวนจากสถาบันมะเร็งอังกฤษบอกว่าคนเราสามารถลดความเสี่ยงด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง รักษาน้ำหนักตัวเพื่อสุขภาพดี ทำตัวกระปรี้กระเปร่าและกินโภชนาการอาหารอย่างสมดุล
นพ. กิติ จินดาวิจักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางศัลยกรรมทั่วไป ศูนย์โรคเต้านมโรงพยาบาลพญาไท 1 บอกว่า “มะเร็งเต้านม เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดยังไม่แน่ชัด แต่มีกรรมพันธุ์ร่วมประมาณ 5-10% โดยเฉพาะความบกพร่องของยีนในโครโมโซม ที่เรียกว่า ยีน BRCA1 และ BRCA2 นอกจากนี้อาจบกพร่องในยีนที่ควบคุมมะเร็งคือ p53 tumor suppressor gene ซึ่งส่วนใหญ่ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์จะเกิดเอง แต่มีบ้างที่เกิดการมิวเตท (มิวเตชัน) หรือกลายพันธุ์จากการได้รับรังสีเอกซเรย์ เช่น เคยได้รับรังสีมาตั้งแต่เด็กจากการรักษาโรคใดโรคหนึ่งจนปริมาณรังสีสะสม หรือสารก่อมะเร็งพวก polycyclic hydrocarbons ในบุหรี่ และเนื้อที่ย่างเกรียม”
นอกจากนี้คนที่มีความเสี่ยงอีกคือผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี และจนอายุ 45 ปีขึ้นไปแล้วก็ยังไม่หมดประจำเดือน ผู้หญิงที่มีลูกคนแรกเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป หรือกินฮอร์โมนเป็นประจำ ยกเว้นกรณีแพทย์สั่ง
อย่าเมินสัญญาณเริ่มแรก
การมองเห็นตัวบ่งชี้มะเร็งตั้งแต่แรกเริ่มนั้นจัดเป็นสิ่งสำคัญ สตรี 90 % ที่มีก้อนเนื้อร้ายเป็นผู้คลำพบด้วยตัวเอง คำแนะนำคือให้คุณทำความรู้จักกับเต้านมของตัวเองในแต่ละวัน ในวัย 30 และ 40 จะเกิดเป็นก้อนซีสต์ง่าย และหยุ่นเมื่อย่างสู่วัยหมดประจำเดือน ยาคุมกำเกิด และฮอร์โมนบำบัดทำให้มีความหนาแน่นเป็นก้อนมากขึ้น ถ้ารู้ว่าการสัมผัสแบบปกติเป็นอย่างไรก็ง่ายที่จะมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นแต่อย่าเมินสัญชาตญาณ
คุณหมอกิติแนะนำว่า การหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านมตัวเองอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่จะช่วยชีวิตของเราได้มากทีเดียว แต่การมีก้อนเล็กๆ ที่คนไข้ส่วนใหญ่คลำเจอบริเวณเต้านมนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นมะเร็งเสมอไป ให้สังเกต คือถ้าเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการเจ็บปวด บวม หรืออักเสบ แต่ก้อนนั้นจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เต้ามีรูปร่างผิดปกติ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหยาบและขรุขระ มีการดึงรั้งของหัวนม ในบางรายบีบหัวนมแล้วจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึมออกมา
ป้องกันได้ ถ้ารู้ทัน
“ สำหรับโรคมะเร็งทุกชนิด เมื่อรักษาหายแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่ยังไม่มีอาการสำคัญมาก ในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน วันที่ตรวจที่ดีที่สุดคือวันที่ 10 หลังจากมีรอบเดือนวันแรก และควรพบแพทย์ตรวจทุก 3 - 5 ปี สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะทำแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวด์ทุกปี หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง อาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี”
อย่างไรก็ตามการป้องกันดีกว่ารอให้เป็นหรือมีอาการ ถึงตอนนั้นมะเร็งอาจลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทำให้รักษาได้ยาก และคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งก็เป็นได้
|