สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”เพื่อให้ความรู้ประชาชนห่างไกลโรค NCDs
category: Lifestyle
tag: กระทรวงสาธารณสุข Healthier Logo โรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรค NCDs
มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ระดมสมองผู้ประกอบการเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559 เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา จึงได้จัดทำเกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบการพิจารณารับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ และกลุ่มอาหารที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว 3 กลุ่ม ดังนี้ อาหารมื้อหลัก , เครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่าง ๆ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำธัญพืช และเครื่องปรุงรส อาทิ น้ำปลา และ ซีอิ้ว
ดังนั้น จึงมีการจัดประชุมผู้ประกอบการด้านอาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบการใช้ตรารับรองสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) และร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นแนวทางการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่ามีผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการออกสู่ท้องตลาดแล้ว สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมต่อสุขภาพ รวมทั้งหวังให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ตราสัญลักษณ์นี้บนฉลากผลิตภัณฑ์ และให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสามารถผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
นพ.บุญชัย เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อว่า การประกาศฯ ใช้สัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ผู้ประกอบการให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาครัฐ พร้อมที่จะปรับสูตรอาหารให้เข้าตามหลักเกณฑ์ ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 9 บริษัท แยกเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม 22 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าหลังจากมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ และมีการประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบ จะมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองฉลากโภชนาการเพิ่มมากขึ้น อย. เชื่อมั่นว่าการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ลดปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ
ด้านดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินการจัดทำสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพได้อย่างรวดเร็วนั้น ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ความสำคัญกับความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน ในการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารกับประชาชนผู้บริโภคทั่วไป ให้เกิดความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าและเหมาะสมต่อสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการให้ข้อมูลบนฉลากอาหาร อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงการปรับสูตรอาหารลดหวาน มัน เค็ม โดยมีกรอบแนวคิดและการผลักดันการขับเคลื่อนสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายสู่การปฏิบัติ
ในปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มประชาชนคนไทยในประเทศป่วยเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ส่งเสริมและเร่งพัฒนาข้อมูลโภชนาการใหม่ ๆ ที่มีลักษณะให้อ่านง่ายขึ้น โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากการสังเกตโลโก้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรอง ทั้งนี้ประโยชน์ที่สำคัญที่อย.ต้องการ คือต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารทุกรายได้หันมาร่วมกันปรับสูตรลด หวาน มัน เค็ม ผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใดที่ได้รับรองมาตรฐาน ก็จะได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier logo) ทางเลือกสุขภาพ นำไปติดที่ฉลากผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการก็จะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค ในเรื่องของความปลอดภัย ปลอดโรค สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ ส่วนผู้บริโภคเมื่อเกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ ก็จะหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น
ด้าน ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต นักวิชาการอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ โดยมีประโยชน์ 2 ทางด้วยกัน คือ 1.เพื่อให้เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในการเลือกสินค้ามาบริโภคอาหารให้เหมาะสมได้ประโยชน์ให้ดีต่อสุขภาพ โดยลดหวาน มัน เค็ม และปราศจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 2.ในด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร การกำหนดหลักเกณฑ์ทางด้านวิทยาศาสตร์อาหาร โดยเมื่อผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย สำหรับเป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภคเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียม และไขมัน เพื่อขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier logo) แล้วมั่นใจว่า ผู้ประกอบการจะพัฒนาอาหารให้ได้คุณค่าตามค่าโภชนาการอย่างเหมาะสม อยากฝากให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมสมัครได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในการสมัครและขออนุญาต จนถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2559 หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือ www.ทางเลือกสุขภาพ.com หรือที่อีเมล [email protected]
|