เรื่องจริงเกี่ยวกับเมตาโบลิซึม (Metabolism) ที่ยังต้องรู้อีก
category: Diet & Exercise
tag: เมตาโบลิซึม ไทรอยด์ฮอร์โมน แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน eat this diet exercise
คุณคงเคยได้ยินมาว่า ใครมีเมตาโบลิซึมสูง ก็จะลดความอ้วนง่าย หรือกินมากมายแค่ไหนก็ไม่อ้วน ในขณะที่ คนที่มีเมตาโบลิซึมต่ำ กินนิดเดียวก็อ้วนเอาอ้วนเอา เรามาทำความรู้จักกับเจ้าเมตาโบลิซึมกันต่อดีกว่า
เมตาโบลิซึม หมายถึง การใช้พลังงานของร่างกายในขบวนการต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด เช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การยืน การเดิน การเต้นของหัวใจ การไหลเวียนโลหิต ฯลฯ อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์ มักจะสอดคล้องกับอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ผกผันกับขนาดของร่างกายในสัตว์แต่ละชนิด เช่น หนูตัวกะจิ๊ดริด หัวใจเต้นนาทีละ 100 กว่าครั้ง ก็จะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานสูง แต่ช้างตัวใหญ่ หัวใจเต้นนาทีละไม่กี่สิบครั้ง อัตราการเผาผลาญพลังงานเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ก็จะช้ากว่า แต่ในสัตว์จำพวกเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่างของเมตาโบลิซึม จึงทำให้อ้วน-ผอมต่างกันไป
- พันธุกรรม อายุ และไลฟ์สไตล์ ล้วนมีอิทธิพลต่อ อัตราเมตาโบลิซึมอายุที่เพิ่มขึ้น มักมีผลให้เมตาโบลิซึมลดลง กินเท่าเดิม แต่กลับอ้วนง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน ไลฟ์สไตล์นั่งๆนอนๆ ไม่ออกกำลังกาย ก็จะมีผลให้เมตาโบลิซึมลดลง
- ผู้ชายมักจะมีเมตาโบลิซึมสูงกว่าผู้หญิง เพราะโดยธรรมชาติ ผู้หญิง จะมีสัดส่วนของไขมันในร่างกายมากกว่าผู้ชาย
- หากมีกล้ามเนื้อเยอะ เมตาโบลิซึมก็จะสูงตามสัดส่วนของกล้ามเนื้อในร่างกาย แต่ใครที่มีไขมันเยอะเมตาโบลิซึมก็จะต่ำ ดังนั้นการออกกำลังกายแบบ Resistance Training เช่นการยกน้ำหนัก ให้กล้ามเนื้อใหญ่ ออกแรงต้าน ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ก็จะช่วยเพิ่มเมตาโบลิซึม ให้น้ำหนักลดเร็วขึ้น
- งานวิจัยพบว่า High Protein Diet กินเนื้อสัตว์มาก จะกระตุ้นให้ร่างกาย ใช้พลังงานในการย่อยโปรตีนมากกว่าย่อยแป้งและน้ำตาล และช่วยกระตุ้นเมตาโบลิซึมโดยรวม
- เมตาโบลิซึมในร่างกายคนเราถูกควบคุมด้วยไทรอยด์ฮอร์โมน หากขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ก็จะมีผลให้ เมตาโบลิซึมต่ำผิดปกติมากเกินไป ก็ไม่ดี อาจเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ได้
- การอดอาหาร กินอาหารพลังงานต่ำกว่าวันละ 1,200 แคลอรี่ อาจช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้เร็ว ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แต่หาก กินอาหารพลังงานต่ำ นานเกินไป จะส่งผลเสีย ให้ เมตาโบลิซึมของร่างกายน้อยลด เมื่อการเผาผลาญลดลง น้ำหนักตัวก็จะไม่ยอมลดลงต่อไปอีก แถม พอวันไหนเผลอกินเกิน 1,2000 แคลอรี่ คราวนี้ น้ำหนักขึ้นทันที
- สารคาเฟอีน จากกาแฟ หรือชา รวมถึงชาเขียว อาจช่วยเพิ่ม เมตาโบลิซึมให้คุณได้บ้าง ในช่วงเวลาสั้นๆ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคือ คุณควรดื่มชา หรือกาแฟ ดำ ไม่ใส่นมหรือน้ำตาล สัก ครึ่งชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย และเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานด้วย
- อาหารรสเผ็ด หรือเต็มไปด้วยเครื่องเทศเผ็ดร้อน อาจช่วยเร่งเมตาโบลิซึมในขณะกินอาหารมื้อนั้นๆ แต่คงไม่ทำให้คุณผอมลง เพราะเวลากินแกงแผ็ด หรือ น้ำพริก เรามักต้องกินข้าวเยอะตามไปด้วย
- อากาศ ก็มีผล ให้เมตาโบลิซึมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตหนาวจัด หิมะตก อุณหภูมิ เหลือ 0 หรือ ติดลบ ร่างกายคนเราจะปรับเร่งเผาผลาญไขมันที่สะสมเอาไว้มาเป็นพลังงานความร้อน ให้ร่างกายอบอุ่น รักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ 37 องศา ไม่ให้เกิดภาวะ Hypothermiaหนาวตาย
-การออกกำลังกาย ก็เป็นการเร่งอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ดี แม้ร่างกายเราจะใช้พลังงานส่วนใหญ่ในการมีชีวิต ให้ทุกอวัยวะในร่างกายทำงานเป็นปกติ ร่างกายต้องใช้พลังงานในการหายใจ การเต้นของหัวใจ การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ฯลฯ การออกกำลังกายช่วยลดน้ำหนัก และช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานเป็นปกติ
รู้จักเมตาโบลิซึมกันแล้ว หากคุณสามารถเพิ่มเมตาโบลิซึม ด้วยการปรับสมดุลไทรอยด์ฮอร์โมน ออกกำลังกายทั้ง แอโรบิค และ Strength Training กินอาหารมื้อย่อยๆ วันละ 4-5 ครั้ง โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จะช่วยกระตุ้นเมตาโบลิซึมได้ดีกว่าการอดอาหาร เมื่อเมตาโบลิซึมดี การลดน้ำหนักก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
บทความโดยแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-264-0999 ,087-591-4541)
|