Slow life ดีต่อหัวใจ แต่ทำไมคนไทยเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น
category: Health
tag: Hospital Slow life โรคหัวใจและหลอดเลือด นายแพทย์ณัฐพล เก้าเอี้ยน สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า
ในปัจจุบัน Carl Honoré (คาร์ล ฮอโนร์ ) ได้ให้นิยามของชีวิต Slow life เอาไว้ คือ การใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป “อย่างมีสาระ” กำหนดตัวเองได้ให้ไม่หลงใหลไปแบบไร้ทิศทาง ไปตามกระแสสังคม ทำทุกอย่างด้วยสปีดที่ช้าลง กำหนดสติ และ รับรู้ถึงความหมายของการใช้ชีวิตได
สรุป สั้นๆ ง่ายๆ ก็จะหมายถึง “การจัด ระเบียบให้กับชีวิต และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” แต่การใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
นพ.ณัฐพล เก้าเอี้ยน แพทย์โรคหัวใจ สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาล พระรามเก้า กล่าวว่า ในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยเป็นลำดับต้นๆ เราควรจะหันมาใส่ใจในสุขภาพของตัวเองโดยการหันมาใช้ชีวิตแบบ Slow life มากขึ้น คือจะช่วยให้แต่ละบุคคลนั้น มีการจัดระเบียบและวางแผนชีวิตตัวเอง และครอบครัว ให้พบกับความสุขที่มีอยู่รอบตัวได้ดีขึ้น และนอกจากนั้น การจัดระเบียบของชีวิต เราจะมีเวลาให้กับตัวเองและคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น ยิ่งเราจัดระเบียบในชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ เท่ากับว่าเราได้มีโอกาสที่จะใส่ใจและดูแลสุขภาพของเรามากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสในการคิด การอ่าน และวิเคราะห์ ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำสิ่งต่างๆ รอบตัว ยกตัวอย่างสิ่งง่ายๆใกล้ตัวเรา เช่น อาหารการกินในชีวิตประจำวัน การเลือกอาหารที่จะบริโภค ทำให้เราลดปริมาณการทานอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกาย ก็ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง และช่วยลดน้ำหนักได้ดีมาก รวมถึงการลดความเครียดจากสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัวที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต เพราะเราได้มีการจัดระเบียบวิธีคิดของเรา ให้มีความสนใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
การลดความเครียดจะช่วยให้การทำงานของร่างกายมีความสมดุลที่ดีขึ้น และลดโอกาสเกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าวัยรุ่น หรือวัยเริ่มทำงานหลายๆ คน มาจับนิยามของ Slow life ที่ผิดเพี้ยนไปจากเมื่อก่อน อาจจะกลายเป็นการนั่งจิบกาแฟในร้านที่มีชื่อเสียงทั้งวัน หรือแม้แต่การใช้ของแบรนด์เนม เพื่อให้มีรูปถ่ายมาแชร์กันในโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้าให้เป็นที่มาของการทำงานที่หนักมากขึ้น เพื่อให้รายรับนั้นเพียงพอกับรายจ่ายที่เราได้จ่ายออกไป ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่มีเวลาออกกำลังกาย หรือแม้แต่การอดนอน มีความเครียดสะสม จนสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งรวมถึงโรคที่เป็นภัยเงียบทั้งหลาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไขมันสะสม และโรคภัยเงียบที่มีความสำคัญมาก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคหัวใจที่คนรู้จักน้อยแต่มีความอันตรายร้ายแรง เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุ และไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านโรคหัวใจ เช่น โรคไขมันโลหิตสูง เบาหวาน หรือความดันอยู่แล้วเท่านั้น
ในปัจจุบันโรคกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้น เกิดจากการสะสมของคราบตะกรัน (Plaque) ในเส้นเลือดหัวใจ โดยมีปัจจัยได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย จนถึงอาหารการกินและความเครียด เมื่อคราบตะกรันนั้นเกิดแตกในเส้นเลือด ร่างกายก็จะพยายามซ่อมแซมบาดแผลเหล่านั้น โดยจะสร้างเกล็ดเลือดมารวมตัวกันเพื่ออุดบาดแผลในหลอดเลือด ซึ่งอาจจะมีผลกระทบไป กีดขวางการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดหัวใจ และทำให้เกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันตามมา ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีความดันโลหิตตกลงอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นช้า และมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงมาก ดังนั้นหากใครมีอาการแน่นหน้าอก ควรรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อโอกาสรอดชีวิตที่สูงขึ้น
|