12 คำถามสุขภาพที่สตรีควรถาม
category: Health
tag: พันธุกรรม ลดน้ำหนัก สุขภาพ ประจำเดือน น้ำหนัก ฮอร์โมน
ไลฟ์สไตล์เป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นถ้าคุณมีพันธุกรรมความเสี่ยงสูง ให้ลดความเสี่ยงนี้ด้วยการจัดรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่ดี ต่อไปนี้คือวิธีการตรวจเช็คไม่ว่าจะเป็นกับพ่อแม่ แพทย์ และตัวคุณเอง
ถามพ่อแม่
1 ครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งรึเปล่า?
คุณอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นถ้าสมาชิกครอบครัวหลายคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะถ้าเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน และตรวจพบก่อนวัย 60 ปี ถ้าเป็นแบบนี้ละก็คุณสามารถลดความเสี่ยงได้ เช่น รับการตรวจพันธุกรรม การหมั่นตรวจเชคร่างกาย และในบางกรณีอาจมีการบำบัดป้องกันไว้ก่อน แต่อย่าตระหนกตกใจถ้าสมาชิกครอบครัวคนสองคนเป็นมะเร็งตอนอายุเกิน 60 เพราะไม่จำแน่นอนเสมอไปว่าคุณจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โชคร้ายที่มะเร็งนั้นจัดเป็นโรคที่พบทั่วไป ดังนั้นการมีญาติสักคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลังวัยหกสิบจัดว่าไม่ผิดปกติเท่าไหร่ ถ้ากังวลเรื่องโรคภัยจากครอบครัวให้ปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
2 ประจำเดือนครั้งสุดท้ายหมดก่อนวัย 45 ปีหรือไม่?
ให้ถามแม่ของคุณเพราะวัยหมดประจำเดือนของแม่จะเป็นแนวทางบ่งบอกถึงตัวคุณด้วยว่ามีเวลาเหลืออีกมาน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าแม่หมดประจำเดือนก่อนวัย 45 ปี แต่ก็มีบ่อยครั้งที่สตรีหมดประจำเดือนเร็วด้วยสาเหตุไม่ชัดเจน(เช่นอาจเกิดจากโรคภูมิคุ้มกัน) มักจะเป็นไปตามรูปแบบครอบครัว ดังนั้นให้ถามว่าแม่อายุเท่าไรตอนประจำเดือนขาดหายครบปี(ซึ่งถือเป็นการหมดประจำเดือนโดยสมบูรณ์) หรือถ้าสามารถถามน้า ป้า (พี่น้องสาวแม่) ได้ด้วยก็จะดี และถ้าพบว่าหมดประจำเดือนวัยเดียวกัน คุณก็ย่อมมีโอกาสจะเป็นด้วยเช่นกัน
แต่องค์ประกอบอื่นๆก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การศึกษาจากสหรัฐฯ พบว่าสตรีที่สูบบุหรี่จัดอาจประจำเดือนหมดเร็วขึ้น 9 ปีมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นถ้าแม่ของคุณสูบบุหรี่แต่คุณไม่สูบ คุณย่อมจะมีประจำเดือนนานกว่าแม่แน่นอน นี่จึงเป็นข้ออ้างที่ดีในการหยุดสูบบุหรี่
3 เคยมีใครในครอบครัวเป็นโรคหัวใจวายหรือหัวใจพิบัติหรือไม่?
ถามพ่อ ลุง หรือน้าของคุณว่ามีใครเป็นโรคหลอดเลือดก่อนอายุ 55 ปีหรือไม่ หรือแม่ น้า ป้า มีอาการนี้ก่อนวัย 65 ปี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเสี่ยงสูง ที่คุณจะเป็นด้วยเช่นกัน แต่ไลฟ์สไตล์เป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นถ้าคุณมีพันธุกรรมความเสี่ยงสูง ให้ลดความเสี่ยงนี้ด้วยการจัดรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่ดี ถ้าประวัติครอบครัวไม่ดี ไลฟ์สไตล์ยิ่งสำคัญมากๆ นิสัยแย่ๆ เช่นโภชนาการอาหารไม่ดี สูบบุหรี่ หรือไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่ออกกำลังกาย เหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคของคุณได้มากขึ้น ถ้าคุณมีประวัติครอบครัวหรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ให้บอกแพทย์หรือพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ
ถามแพทย์ของคุณ
4 ความดันโลหิตของคุณอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีหรือไม่?
คราวหน้าถ้าไปพบแพทย์ ให้วัดความดันโลหิตซึ่งควรอ่านได้ 120/80 หรือต่ำกว่านั้น(ถ้าต่ำ กว่า 90/60 คุณมีความดันโลหิตต่ำ แต่ถ้าเป็นอาการปรกติของคุณก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา นอกเสียจากทำให้เกิดอาการ เช่น วิงเวียนหน้ามืด ความดันโลหิตที่วัดได้ในระดับ 135/85 มักทำให้เกิดอาการหัวใจวายหรือหัวใจพิบัติได้เท่าๆ กับระดับวัดได้ 115/75 ดังนั้นควรไปตรวจเช็คให้แพทย์วินิจฉัย อย่างชัดเจนเพื่อเชคความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย
5 น้ำหนักตัวเหมาะสมมั้ย?
การมีน้ำหนักตัวพอเหมาะพอควรอาจปกป้องสุขภาพคุณในอนาคตได้ ลดความเสี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และยังมีมะเร็งหลายชนิดที่เกิดได้ง่ายๆ กับคนน้ำหนักตัวเกินพิกัด รวมถึงมะเร็งเต้านม และมะเร็งทวาร ความเชื่อมโยงเกิดจากน้ำหนักตัวมากเกินพิกัดนี่แหละที่ไปเพิ่มระดับฮอร์โมนส์ที่เกี่ยวพันกับมะเร็งบางชนิด
6 ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้แบบนั้นปกติรึเปล่า?
ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดงประหลาด หรือการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป ถ้าคุณสังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายตัวเองซึ่งเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นควรไปพบแพทย์ มะเร็งมีมากกว่า 200 ชนิดและมีอาการกับสัญญาณบ่งบอกความเป็นไปได้มากมาย ไม่ใช่แค่ก้อนเนื้ออย่างเดียวก็เหมาเอาว่าเป็นมะเร็ง แต่ก็มีหลากหลายที่มาจากเสียงไอโขลกแห้งที่เป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ไปจนถึงขั้นกลืนอะไรไม่ลง ให้ทำความรู้จักกับความปกติหรือผิดปกติในร่างกาย เพื่อช่วยให้จับสิ่งที่แตกต่างไปซึ่งอาจเป็นสัญญาณมะเร็ง อาการส่วนใหญ่อาจไม่ร้ายแรง แต่ทางที่ดีคือไปรับการตรวจจากแพทย์ให้อุ่นใจไว้ดีกว่า
7 ตรวจการเต้นของหัวใจ
อาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมออาจเป็นสัญญาณโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ(atrial fibrillation AF)ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับอาการหัวใจพิบัติมากขึ้นอีก 6 เท่า AF ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นระรัวและวิงเวียน แต่ก็มีหลายคนที่อาจไม่มีอาการใดเลย เมื่อหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอทำให้เลือดไปขังอยู่ที่ห้องหัวใจด้านบน บางครั้งอาจเกิดอาการเลือดอุดตันขึ้นมา ถ้าขึ้นไปที่สมองก็ส่งผลให้หัวใจพิบัติ แต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ในคนที่มีอาการ AF ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้เพื่อรับยาลดความเสี่ยงเลือดอุดตัน ถ้าอายุเกิน 45 ปี ให้แพทย์หมั่นตรวจชีพจร หรือทำได้ด้วยตัวเองก็ได้ ถ้าไม่ปกติบ่อยๆ เป็นประจำให้ไปพบแพทย์
8 ฉันควรรับฮอร์โมนส์บำบัดมั้ย?
ถ้าคุณกำลังอยู่ในวัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ก็ควรรับฮอร์โมนส์บำบัด แม้ไม่มีอาการใดๆก็ตาม การรับฮอร์โมนส์บำบัดในวัยที่อายุน้อยๆ นอกจากช่วยควบคุมอาการแล้วยังลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพในกาลต่อมาซึ่งเชื่อมโยงกับการหมดประจำเดือนเร็วหรือก่อนเวลาอันควร เช่น โรคกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดอุดตัน หรือถ้าคุณอายุมากแต่มีองค์ประกอบความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน หรือฟาดฟันกับอาการขาดเอสโตรเจน เช่น ร้อนเนื้อตัววูบวาบ คุณอาจได้ประโยชน์เช่นกัน โดยทั่วไปสำหรับสตรีอายุต่ำกว่า 60 ปี ฮอร์โมนส์บำบัดให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ปรากฏหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าถ้าเริ่มรับตั้งแต่แรกในช่วงกำลังหมดประจำเดือนก็จะช่วยปกป้องต่อโรคหลอดเลือดอุดตันได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์
9 ถามตัวเองว่า “ดื่มมากไปรึเปล่า?”
คุณไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 2-3 หน่วย(เท่ากับสองแก้วในปริมาณ 125 มล.) แต่เป็นเรื่องง่ายดายนักที่จะเผลอดื่มมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว การค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่สหรัฐอเมริกาพบว่าปริมาณการดื่มส่งอิทธิพลต่อการประเมินตัวเอง ทำให้รินเหล้าใส่แก้วเกือบเต็มปรี่ ยิ่งถ้าเป็นแอลกอฮอล์สีขาวซึ่งมองเห็นยากจะรินแทบล้นแก้วทุกทีสิน่า ถ้ายืนดื่มก็จะดื่มไปเรื่อยๆมากกว่าตอนนั่งโต๊ะอาหาร ดังนั้นให้ระวัง ตรวจดูการดื่มอย่างเหมาะสม จดบันทึกการดื่มเอาไว้ ถ้าดื่มมากไปให้ถามตัวเองว่า “ทำไม” ถ้าดื่มเพื่อเข้าสังคมให้หากิจกรรมอื่นทำกับเพื่อนๆ แทน เช่น เข้าชั้นเรียนออกกำลังกายตามด้วยการดื่มน้ำผลไม้ ถ้าดื่มคลายเครียดที่บ้าน ให้ใช้วิธีนอนแช่น้ำอุ่นเหยาะน้ำหอมกลิ่นกุหลาบคลายเครีดยแทนจะดีกว่านะ
10 เอวของฉันวัดได้ขนาดเท่าไร?
วัดรอบเอวตัวเองดูว่ามีขนาดเกิน 31.5 นิ้วหรือไม่ ถ้าใช่คุณมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิด 2 ต่อให้มีน้ำหนักตัวเหมาะสมกับความสูงก็ตาม สตรีหนึ่งในสามมีอาการเริ่มเป็นเบาหวานเมื่อระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น แต่ไม่สูงพอจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิด 2 ดังนั้นถ้าคุณเอวใหญ่กว่าควร ให้ไปทดสอบระดับน้ำตาลกลูโคส เพราะถ้าทิ้งไว้ไม่ใส่ใจ อาการเริ่มจะเป็นเบาหวานนั้นอาจจะกำเริบขึ้นมาพรวดพลาดจนเป็นโรคเบาหวานเต็มตัวไปเลยได้ แถมจะไปเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหัวใจพิบัติ แต่คุณลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการลดน้ำหนักและทำตัวกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
11 ออกกำลังกายพอรึยังเนี่ย?
คุณอาจรู้สึกว่าพยายามอยู่แล้ว แต่พวกเรากว่า 80 % ยังฟิตไม่พอในการทำกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
-ทำกิจกรรมปานกลางผสมกัน 2 ชั่วโมงครึ่ง เช่น ขี่จักรยาน เดินเร็ว เพิ่มกิจกรรมสร้างกล้ามเนื้อ(พิลาทีส หรือยกน้ำหนัก)อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
-ทำกิจกรรมแอโรบิกครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที(หนักมากพอที่จะทำให้เหงื่อออกและหายใจหอบ)รวมทั้งกิจกรรมสร้างกล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
-ออกกำลังแบบโหมหนักครั้งละ 30 นาทีสองครั้ง ร่วมกับกิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อสัปดาห์ละ2 ครั้ง
12 มีความสุขมั้ย?
การได้ทำสิ่งที่คุณชอบและใช้เวลาร่วมกับคนที่รัก นอกจากน่าอภิรมย์แล้วยังกระตุ้นสุขภาพด้วย การศึกษากับคน 160 คนพบว่าความสุขเชื่อมโยงอย่างมากกับสุขภาพดี และมีอายุยืนยาว อาจเป็นเพราะอารมณ์เชิงบวกลดฮอร์โมนส์เครียด และกระตุ้นภูมิคุ้มกันและบรรเทาเยียวยา ดังนั้นหมั่นทบทวนชีวิตเป็นประจำ เสริมความรื่นรมย์สม่ำเสมอ เข้าสังคมกับเพื่อน ไปฮอลิเดย์ และสร้างสัมพันธ์ที่แฮปปี้กับทุกคน จะช่วยให้คุณลืมความเครียดไปได้
|