สกสว.ประสานพลัง สภาพัฒน์ หนุนใช้วิทย์ วิจัยและนวัตกรรมเร่งโตอุตฯ ชีวภาพ รับ “แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” พร้อมวางเป้าชิงส่วนแบ่งการค้าโลกและเติมเต็มอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ
category: News & Event
tag: สกสว. สภาพัฒน์
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็น
ผ่านเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 2 : อุตสาหกรรมชีวภาพ : บนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ช่องว่างความรู้ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และการกำหนดโจทย์วิจัยสำคัญ ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. และ
คุณนุชจรี วงษ์สันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ร่วมเปิดการประชุม และ อภิปรายแนวทางขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หมุดหมายที่ 10 : ไทยมีเศรษฐกิจ หมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน รวมถึงพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship) แผนงานและแผนงานย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 เช่น การใช้นวัตกรรมสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่จากโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) และลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้ ววน. เป็นต้น
ประกอบกับที่ผ่านมา สกสว. และ สศช. ได้ลงนามแผนงานความร่วมมือระยะ 4 ปี ระหว่าง ปี 2567 – 2570 โดยมีขอบเขตความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ด้วย ววน. ครอบคลุมทั้งการใช้ประโยชน์จากผลงาน ววน. และการจัดสรรทุนวิจัยในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ว่าด้วยเรื่องการกำหนดพื้นที่นำร่องร่วมดำเนินการขับเคลื่อน ในปี 2567 จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ สตูล ฉะเชิงเทรา ลำปาง และสระบุรี โดยในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและศักยภาพของพื้นที่ การสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนา การนำผลงาน ววน. ที่สามารถหนุนเสริมการบรรลุเป้าหมายทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ มาร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อย่างเป็นรูปธรรม
“การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ต่อจากการเสวนาการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศครั้งที่ผ่านมาในประเด็น “อุตสาหกรรมชีวภาพ : บนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ช่องว่างความรู้ของอุตสาหกรรมชีวภาพ ข้อเสนอแนะเชิงประเด็นและการกำหนดโจทย์วิจัยสำคัญ ที่ผู้แทนจากแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมสะท้อนและนำเสนอ สกสว.จะนำกลับไปพิจารณาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและประกอบการวางแผนและออกแบบการปรับปรุงแผนและจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. สำหรับขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 ให้สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศต่อไป”
ณนุชจรี วงษ์สันต์
ด้าน นางสาวนุชจรี วงษ์สันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่าง สกสว. และ สศช. เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 ให้สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับพื้นที่ เช่น กลยุทธ์หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 กลยุทธ์ คือ
1. การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรม และบริการ โดยการพัฒนาสินค้า บริการและตลาดที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความเชื่อมโยงกับสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ และการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการ 2. การสร้างรายได้สุทธิให้ชุมชน ท้องถิ่นและเกษตรกรจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนจากแนวทางขยะสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Waste) ทั้งจากขยะและวัสดุทางการเกษตร 3. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตให้เพียงพอและมีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากส่วนเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลายปราศจากเศษเหลือและของเสียจากอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และขยะอาหาร 4. การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและกลไก สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมงานวิจัยเทคโนโลยีและพัฒนาแพลตฟอร์ม สนับสนุนธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคม และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้นแบบโมเดลธุรกิจ และกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครบวงจร และ 5. การปรับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและการด่ารงชีพเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โดยการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดในสังคม สร้างแรงจูงใจ และทัศนคติในการดำรงชีวิตของผู้บริโภคเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การบริโภคที่ยั่งยืน และส่งเสริมแพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบ่งปันและตลาดสินค้ามือสอง รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและนวัตกรรมประหยัดพลังงานในครัวเรือน เพื่อขับเคลื่อร่วมกันระหว่าง สกสว.และ สศช. ในระยะต่อไป
|