อว. โดย สกสว. เร่งเสริมทักษะนักวิจัยรุ่นใหม่ สาขาการแพทย์-สาธารณสุข หนุนการแข่งขันผลงานวิจัยไทยสู่เวทีอาเซียน
category: News & Event
tag: Academy of Medical Sciences
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ Academy of Medical Sciences (AMS) และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

ร่วมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านการแพทย์และสาธารสุขในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และเป็นสาขาที่มุ่งเน้นในปี 2568 ของอาเซียน ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ “UK-SEA Workshop for Early-Career Health-related Researchers in Thailand” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงแหล่งทุนวิจัยในภูมิภาคอาเซียน และนานาชาติ ได้ทำความเข้าใจถึงบทบาทของหน่วยให้ทุน รวมทั้งกลไกการขอทุน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเตรียมความพร้อมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ในการขอทุนวิจัยในอนาคต ตลอดจนพัฒนาทักษะในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุน (grant writing) ในระดับนานาชาติ การนำเสนอไอเดีย (pitching) และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (science communication) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จำนวน 74 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
 ดร.ไซมอน เดเนกรี
ดร.ไซมอน เดเนกรี ผู้อำนวยการ Academy of Medical Sciences (AMS) กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการแพทย์มีความสำคัญมาก เพื่อให้งานวิจัยด้านการแพทย์มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ AMS ที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับประเทศไทย และเป็นการทำงานกับ สกสว. ในรูปแบบพันธมิตรที่เท่าเทียม และหวังว่าจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและการแพทย์มากขึ้น เกิดเครือข่ายนักวิจัยในอาเซียนต่อไป

ด้าน นางสาวชานดู เชาฮารี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Science Innovation Network (SIN) กล่าวถึงบทบาทของ SIN ซึ่งมีอยู่ในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยสนับสนุนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงสหราชอาณาจักร และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความท้าทายของโลก
 ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ มีอยู่ รองผู้อำนวยการ สกสว.
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ มีอยู่ รองผู้อำนวยการ สกสว. ยังเสริมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคฯ ที่จะได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมในภูมิภาคฯ มุ่งเน้นทักษะในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุน (grant writing) การนำเสนอไอเดีย (pitching) และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (science communication) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม



ปัจจุบันมีทุนวิจัยหลากหลายประเภท ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งแนวโน้มของทุนวิจัยในปัจจุบันเน้นความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในเครือข่ายวิจัยและนำไปสู่การขอทุนขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติได้ นอกเหนือจากการประชุมเชิงปฏิบัติการแล้ว คณะผู้จัดงานยังได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 15 คน ซึ่งมีสาขาการวิจัยตรงกับเป้าหมายมุ่งเน้นของอาเซียน เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SiMR) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบปะพูดคุยกับทีมคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัย เพื่อสร้างโอกาสในการทำความร่วมมือต่อไปในอนาคตด้วย


|