แพทย์แนะ 6 Tips ‘ลด ละ เลี่ยง’ โรคความดันโลหิตสูง
category: Health
tag: ความดันโลหิตสูง นพ.มงคล จิรสถาพร โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรคความดันโลหิตสูง จัดเป็นภัยซ่อนเร้นที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวาย และโรคอัมพาต ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้
การตรวจวัดความดันสม่ำเสมอจะช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรกและการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ถึงเกณฑ์ปกติตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย จะช่วยให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมความเคยชินบางอย่างในชีวิตประจำวันก็เป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
นพ.มงคล จิรสถาพร อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ความดันโลหิตสูง หมายถึง แรงดันของเลือดที่กระทำต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งจะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นกับแรงบีบตัวของหัวใจของแต่ละคน ค่าความดันโลหิตที่วัดจากเครื่องวัดความดัน จะมี 2 ค่า คือ ความดันโลหิตตัวบน คือ แรงดันขณะหัวใจบีบตัว และ ความดันโลหิตตัวล่าง คือ แรงดันหัวใจขณะคลายตัว สำหรับค่าความดันโลหิตที่ปกติ คือความดันโลหิตตัวบน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 มม. ปรอท และความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 80 มม. ปรอท แต่ถ้าวัดความดันโลหิตตัวบนได้มากกว่า 120 มม. ปรอท แต่ไม่เกิน 139 มม.ปรอท และ/ หรือความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 80 มม. ปรอท แต่ไม่เกิน 89 มม. ปรอท จะเรียกว่าเป็น ภาวะก่อนเกิดความดันโลหิตสูง ถ้าวัดความดันโลหิตตัวบนได้มากกว่า 140 มม. ปรอท ขึ้นไป และ/ หรือ ความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 90 มม.ปรอท จะเรียกว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอย่างอื่น แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ มักมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดที่ท้ายทอย หรือวิงเวียนศีรษะร่วมด้วยได้ และผู้ป่วยบางส่วนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ อาจมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย, เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ
การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เริ่มเป็นหรือระดับความดันโลหิตยังสูงไม่มาก จะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งถ้าหากผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ความดันโลหิตกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ (ความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท) โดยไม่ต้องอาศัยการรับประทานยา นอกจากนี้ยังมีหลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความดันโลหิตสูง ง่ายๆ
- ลดน้ำหนัก : ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่น้ำหนักเกิน หรืออ้วน การลดน้ำหนักลงจะได้ประโยชน์ในการลดความดันโลหิตมากการลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัมจะลดความดันโลหิตได้ 5 – 20 มิลลิเมตรปรอท ความจริงแล้วผลดีอื่นๆ ที่ได้จากการลดน้ำหนักมีมากกว่าการลดความดันโลหิต เช่น ป้องกันการเกิดเบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ควรควบคุมไม่ให้ดัชนีมวลกาย ( BMI ) เกิน 24 กก./ตรม. ( ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว ( กิโลกรัม ) / ส่วนสูง ( เมตร )2 )
- หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม : เมื่อได้รับ " เกลือ " หรืออาหารรสเค็มต่างๆ ร่างกายจะดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น เป็นผลให้ปริมาณสารน้ำในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นและควบคุมได้ยาก ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มี รสเค็ม โดยไม่เติมเกลือ น้ำปลาหรือซีอิ๊วในอาหารอีก นอกจากนั้นควรงดผงชูรสหรืออาหารที่มีผงชูรสอยู่มากด้วย เนื่องจากผงชูรสมี เกลือโซเดียมเช่นกัน ไม่แนะนำให้ใช้เกลือเทียม เช่น เกลือโพแทสเซียมแทนเกลือแกง เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้ในผู้ป่วยที่มีไตเสื่อม อาหารที่แนะนำนอกจากจะไม่เค็มแล้วควรจะเป็นอาหารที่พลังงานต่ำ และมีไขมันจากสัตว์น้อย เพิ่มการรับประทานปลาแทนเนื้อหรือหมู และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงต่างๆ ขนมหวาน เน้นผักและผลไม้ที่ ไม่หวานจัดแทน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตลงบ้างแล้วยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักได้ง่าย ไขมันคลอเรสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น จิตใจแจ่มใส สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมาก หรือผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย หากท่านไม่สามารถจัดเวลาเพื่อออกกำลังกายได้ แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ท่านทำอยู่แล้วแทน เช่น ใช้การเดินขึ้นบันไดแทนลิฟท์ เดินไปตลาดหรือ ทำงานบ้านด้วยตนเอง
- งดบุหรี่ : การสูบบุหรี่มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วขณะ แม้ว่าการเลิกบุหรี่อาจไม่มีผลลดความดันโลหิตในระยะยาว แต่ไม่สูบบุหรี่จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งอีกหลายชนิด และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของคนใกล้ชิดอีกด้วย
- ลดแอลกอฮอล์ : แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยๆ อาจช่วยเพิ่มไขมันคลอเรสเตอรอลชนิดดีได้บ้าง แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเนื่องจากผลเสียของการดื่มแอกอฮอล์มีมากกว่าผลดีมากอย่าเชื่อโฆษณาที่แนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ หากท่านดื่มอยู่แล้ว ก็ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว
- ลดความเครียด : เราไม่ควรเคร่งเครียดตลอดเวลา เพราะความเครียดถือเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นได้ ยิ่งในภาวะอากาศร้อนเช่นปัจจุบันอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนเกิดความเครียด หงุดหงิด แนะนำให้ปล่อยวาง หากิจกรรม หางานอดิเรกที่เราชอบทำ เล่นกีฬา หรือทำสมาธิ พยายามควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ หากเครียดต้องรู้จักปล่อย ชีวิตก็จะเป็นสุข ห่างไกลจากโรคความดันได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่หากหลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การรักษาโรคโดยการใช้ยาเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอหลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
|