โรงพยาบาลรามาธิบดี บูรณาการความร่วมมือทางการแพทย์ เผยผลสำเร็จการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ครั้งแรกในอาเซียน
category: Health
tag: หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โรงพยาบาลรามาธิบดี Robotic Assisted Kidney Transplantation
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศผลลัพธ์ความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Kidney Transplantation)
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบเนื่องจากความร่วมมือภายใต้โครงการ MFA-MU Capacity Building for Medical and Health Science Education Hub ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เท่าทันการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และผลักดันศักยภาพวงการแพทย์ไทยสู่มาตรฐานสากล
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ หนึ่งในรูปแบบของเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่เรียกว่า ‘Minimally Invasive Surgery’ ที่สามารถลดข้อจำกัดของมนุษย์และการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic Surgery) เช่น การเข้าถึงอวัยวะภายในที่แคบและมองเห็นยากได้เป็นอย่างดี โดยมีอัตราขยายการมองเห็นมากกว่าสายตามนุษย์ถึง 10 เท่า สามารถเย็บแผลและห้ามเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำการผ่าตัดในท่านั่งซึ่งช่วยลดอาการเมื่อยล้าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบทั่วไป และการผ่าตัดผ่านกล้องที่จะต้องผ่าตัดในท่ายืนเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีข้อจำกัดและยังไม่สามารถทดแทนบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทั้งหมด
สถิติจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) ประจำปี พ.ศ. 2566 เผยว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 1.06 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นถึง 8.5 หมื่นคน จากปี พ.ศ. 2565 โรคไตจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทยที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยเช่น คนเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ส่งผลต่อโรคไตมากขึ้น การบริโภคอาหารรสชาติเค็มเกินกว่า 5 กรัม ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ร่างกายต้องการต่อวัน ด้านการรักษาจะรักษาด้วยการฟอกไต การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไตซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดของการรักษา ณ ปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า “ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นศูนย์ที่ให้บริการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นต้นแบบทางการรักษาและฝึกอบรมให้กับโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันทั่วประเทศ โดยความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความก้าวหน้าทางการแพทย์ไทย”
ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดให้กับผู้ป่วย 3 รายแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้เป็นการผ่าตัดร่วมกันระหว่างทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส โดยผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 9 วัน และไตสามารถทำงานได้อย่างดี นอกจากนี้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดในหลากหลายสาขา เช่น ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์มะเร็ง ศัลยศาสตร์ตับ ศัลยศาสตร์ปลูกถ่ายอวัยวะ และศัลยศาสตร์ทรวงอก เป็นต้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติณัฐ กิจวิกัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้มุมมองด้านการรักษาว่า “นวัตกรรมการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี โดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งจะช่วยลดการเสียเลือด ลดความเจ็บปวด ลดระยะเวลาในการฟื้นตัว ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า “การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมิเพียงช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย เพราะการใช้หุ่นยนต์ทำให้ศัลยแพทย์สามารถเย็บต่อหลอดเลือดในบริเวณลึกได้ดียิ่งขึ้น และลดความจำเป็นของการใช้หลอดเลือดที่ยาวจากไตของผู้บริจาค”
แพทย์หญิงนงลักษณ์ บุตรดี
ตัวแทนผู้ป่วย 1 ใน 3 รายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แพทย์หญิงนงลักษณ์ บุตรดี เล่าว่า “อาการเริ่มแรกเป็นเพียงอาการอ่อนเพลียทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่นิ่งนอนใจจึงตรวจคัดกรองและพบว่าเป็นโรคไต โดยมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายไตชนิดรุนแรง หรือ Rapidly Progressive Glomerulonephritis (RPGN) รักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจึงตัดสินใจรักษาต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะไว้วางใจในความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายไตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้ดูแลเสนอวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดร่วมกันระหว่างทีมแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมแพทย์จาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยลดระยะเวลาการฟื้นตัว ลดการเสียเลือด และแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 7 เซนติเมตรเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดที่มีขนาดกว่า 25-35 เซนติเมตร ประกอบกับการหาข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติม พบว่าการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้ผลลัพธ์ของค่อนข้างดีจึงไม่มีความกังวลใจ ภายหลังการผ่าตัดมีอาการปวดในระดับที่น้อยมาก และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวเพียง 10 วัน การผ่าตัดปลูกถ่ายไตในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ เป็นจำนวนเงินเกือบ 200,000 บาท”
“ด้วยบทบาททางอาชีพแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ตลอด เมื่อเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายของตัวเองจึงรีบตรวจหาสาเหตุและรีบรักษา เพราะอาการอ่อนเพลียอาจไม่ได้มาจากการทำงานหนักหรือพักผ่อนน้อยเท่านั้น ฉะนั้น จึงอยากแนะนำให้ทุกคนหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้นและรักษาได้อย่างทันท่วงที” แพทย์หญิงนงลักษณ์ บุตรดี กล่าวปิดท้าย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลในหลากหลายสาขา คาดการณ์ว่าในอนาคตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในทางการแพทย์ มูลนิธิรามาธิบดีฯ เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพทางการรักษาพยาบาลแก่คนไทย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยเพื่อต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบแห่งการรักษา มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงสานต่อการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่านการจัดตั้งโครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อระดมทุนในการซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ
|