เผย 3 โรคติดเชื้ออันตรายในผู้สูงอายุ ส่งผลเจ็บป่วยเฉียบพลัน
category: Health
tag: วันแม่แห่งชาติ 2558 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคงูสวัด
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม จัดโครงการ “รณรงค์เผยแพร่ความรู้ด้านวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ 3 โรคติดเชื้อยอดฮิตในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม และโรคงูสวัด พร้อมกระตุ้นให้ลูกกตัญญูแสดงความห่วงใยและป้องกันโรคติดเชื้อของบุพการี ด้วยการพาคุณแม่ไปฉีดวัคซีน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ อัสสันตชัย
โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ อัสสันตชัย หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม และหัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า “ปัจจุบันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เกิดภาวะพึ่งพา การสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนการเสียชีวิตบ่อยในผู้สูงอายุ โดย 3 โรคติดเชื้อที่อันตรายในผู้สูงอายุ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโรคงูสวัด ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ เพื่อนำไปสู่การดูแลและป้องกันได้อย่างถูกต้อง พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนพาบุพการี คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดผู้สูงอายุ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อมากขึ้น
ศ.นพ. ประเสริฐ อธิบายเกี่ยวกับสามโรคติดเชื้ออันตรายในผู้สูงอายุว่า “โรคงูสวัด เป็นหนึ่งในสามโรคติดเชื้อที่สำคัญ อุบัติการณ์ตลอดช่วงชีวิต (lifetime incidence) ของการเกิดโรคงูสวัดประมาณร้อยละ 20 – 30 ในประชากรทั่วไป แต่จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี โรคงูสวัดทำให้มีการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน และมีผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาท ซึ่งจะสามารถหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคจะมีมากขึ้น และอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง หรือPost Herpetic Neuralgia ซึ่งอาจจะปวดได้อีกหลายเดือนถึงเป็นปี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างมากแม้การสัมผัสเบาๆ บริเวณที่เคยเป็นโรคงูสวัด ทำให้ผู้สูงอายุถึงกับสูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ในผู้ป่วยบางราย หากงูสวัดขึ้นที่ใบหน้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา ทำให้ตาอักเสบ เป็นแผลที่กระจกตา และอาจส่งผลให้ตาบอดได้ หรือภาวะแทรกซ้อนทางหู ทำให้หูหนวกได้ หรือในบางรายอาจพบภาวะปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
จากการศึกษาการใช้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด พบว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51.3 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อายุระหว่าง 60 – 70 ปี และยังช่วยลดอุบัติการณ์ของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่อายุมากกว่า70 ปีขึ้นไป และยังสามารถให้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดร่วมกับวัคซีนอื่นๆ ได้ในเวลาเดียวกัน โดยฉีดวัคซีนคนละข้างของต้นแขน แม้จะเคยเป็นงูสวัดแล้ว”
“ส่วนโรคปอดอักเสบ (pneumonia) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 4 ในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงจากความชรา และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งการมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจวายเรื้อรัง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งมีผลทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ง่ายและหายช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน กลไกการเกิดโรคปอดอักเสบมักเกิดจากโรคติดเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) มาก่อน หรือการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) บางรายอาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันจะช่วยลดอัตราการตาย และการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ จากการศึกษาในผู้สูงอายุพบว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนนิวโมคอคคัส มีประสิทธิผลในการลดการเกิดปอดอักเสบและการติดเชื้อรุนแรง ลดอัตราการรับผู้ป่วยเข้าไว้ในโรงพยาบาล ตลอดจนลดอัตราการตายได้”
“การป้องกันโรคก่อนที่จะเป็นโรคย่อมดีกว่าการปล่อยให้เป็นแล้วรักษา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่หากเกิดโรคติดเชื้อมักจะมีอาการรุนแรง และอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันความก้าวหน้าของการผลิตวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีการปรับปรุงคำแนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุอาจมีผลข้างเคียง และมีข้อยกเว้นในผู้ป่วยบางราย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีนทุกครั้ง”
|