เหตุผลที่น้ำหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว
category: Diet & Exercise
tag: ไทรอยด์ต่ำ อดนอน ลดน้ำหนัก
หากคุณหยุดออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อยลง แถมกินมากขึ้น แน่นอนน้ำหนักตัวคงขึ้นแน่นอน แต่ทำไม ออกกำลังกายเหมือนเดิม กินเท่าเดิมหรือน้อยกว่า แต่น้ำหนักกลับขึ้น ! ลองมาดูซิว่าอะไรเป็นต้นเหตุได้บ้าง
อดนอน คนที่นอนดึกๆ หลังเที่ยงคืน มีแนวโน้มที่จะกินอาหารว่างมื้อย่อยๆ กินจุบกินจิบ หรือกินเป็นมื้อดึกอีกมื้อ ก่อนเข้านอน กินแล้วนอนเลย พลังงานอาหารก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นไขมันสะสมได้ง่ายๆ แถมคนที่นอนดึกหรืออดนอน นอนวันหนึ่งไม่ถึง 7 ชั่วโมง จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน หิว หรือ อยากอาหารมากขึ้น และเร่งการสะสมไขมันในร่างกาย
ยาบางชนิด เช่น ยาที่ออกฤทธิต่อจิตประสาท ยาแก้ภาวะจิตตกซึมเศร้า (Antidepressants) อาจช่วยให้คนไข้อารมณ์ดีขึ้น ความอยากอาหารก็มากขึ้นตามไปด้วย หรือยาตระกูล สเตียรอยด์ (Steroid) เช่น Prednisolone ซึ่งช่วยลดการอักเสบต่างๆได้ดีแต่มักทำให้โหยหาอยากอาหาร ตัวบวมน้ำ และมีไขมันสะสมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ใบหน้า ต้นคอ และหน้าท้อง ไม่ควรกินยา สเตียรอยด์นานๆ นอกจากนี้ยาที่ใช้รักษาไมเกรน แก้โรคลมขัก รักษาเบาหวานและความดันโลหิตสูงบางชนิด ก็อาจมีผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ หากสงสัยว่าน้ำหนักขึ้นจากยาใดๆก็ตาม อย่าหยุดกินยาเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อปรับยาให้เหมาะสม เพราะแต่ละคนอาจตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน อย่าไปซื้อยามากินเองตามเพื่อน
เครียดมาก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น แม้คอร์ติซอลจะเป็น Stress-fighting hormone ช่วยต่อสู้กับความเครียด แต่คอร์ติซอลจะกระตุ้นให้รู้สึกหิวโหย อยากอาหารที่ให้พลังงานสูงๆ และให้พลังงานทันที เช่น ขนมหวาน ขนมเค้ก ช็อกโกแลต ฯลฯ
ไทรอยด์ต่ำ โดยทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้น ตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนไทรอยด์มักลดลง ทำให้ กินน้อยอ้วนง่ายกว่าตอนวัยรุ่น หากมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เหนื่อยง่าย เพลีย ง่วงนอนทั้งวัน ขี้หนาว มือเท้าเย็น ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นโรค Hypothyroidism ซึ่งควรได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทน
อย่าหลงโทษภาวะวัยทอง แม้ว่าช่วงที่คุณผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง อายุ 50ปี เมตาโบลิซึมหรือขบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ก็มักจะลดลงตามวัยอยู่แล้ว หากปรับพฤติกรรม ออกกำลังกายมากขึ้น ลดขนมหวาน อาหารทอด ฯลฯ ก็น่าจะควบคุมน้ำหนักตัวได้ไม่ยาก
อาจมีซีสต์ในรังไข่ หรือมีภาวะ PCOS (Polycystic Ovarian Syndrome) ซึ่งจะมีผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน น้ำหนักขึ้น ประจำเดือนผิดปกติ มีสิวอักเสบ หน้ามัน ผมร่วง ผมบาง ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับฮอร์โมนให้สมดุล
อย่าโทษยาคุมกำเนิด และฮอร์โมนเพศทดแทนในวัยทอง เพราะแม้ฮฮร์โมนเสริม อาจมีผลให้ร่างกายเก็บน้ำมากขึ้น หรือบวมน้ำขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้น้ำหนักขึ้นมากมาย และอาการบวมน้ำมักเป็นในช่วงแรก หลังจากนั้นร่างกายจะปรับตัวได้เอง อย่างไรก็ตามสาววัยทองที่มีน้ำหนักตัวคงที่มาตั้งแต่สาวรุ่น ก็มักจะมีไขมันสะสมบริเวณ เอว สะโพก และต้นขามากขึ้น
เลิกบุหรี่ มักทำให้กินจุบจิบมากขึ้น ปากว่างไม่ได้ ต้องมีขนมขบเคี้ยว คนที่เลิกบุหรี่จึงอ้วนขึ้นทุกคน แต่ก็จะอ้วนขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยเฉลี่ย คนที่เลิกบุหรี่ จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 ปอนด์ หรือ 4.5 กิโลกรัมเท่านั้นเอง พอเลิกบุหรี่ได้แล้ว ก็เลิกกินขนมขบเคี้ยว และหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ไม่กี่สัปดาห์ก็ลดน้ำหนักได้
หากน้ำหนักขึ้นมากผิดปกติลองสังเกตุว่าเป็นเพราะสาเหตุใด หากเป็นเพราะยา หรือฮฮร์โมนแปรปรวน ควรปรึกษาแพทย์ ที่แน่ๆ ควรออกกำลังกายมากขึ้น ขยับเขยื้อนร่างกาย เดินไปมา ไม่นั่งนิ่งๆอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจ้องโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ลดขนมหวาน น้ำตาล และผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ ทั้งนม เนย ชีส ที่อาจกระตุ้นให้มีการอักเสบ และการแปรปรวนของฮอร์โมนมากขึ้น คนอื่นเขายังลดน้ำหนักตัวได้หลายสิบกิโลกรัม คุณก็ต้องทำได้เช่นกัน
บทความโดยแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-264-0999 ,087-591-4541)
|