ชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ด้วยการดูแลตัวเอง และคนใกล้ชิด
category: Health
เมื่อคนเราแก่ตัวลง หรือเริ่มมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายก็เริ่มแก่ตัวลงตาม หรือเสื่อมสมรรถภาพลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของระบบความ จำ หรือชื่ออาการที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ “ภาวะสมองเสื่อม” (Dementia) นั่นเอง
ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่ง นพ.เขษม์ชัย ได้กล่าวว่า เราสามารถสังเกตได้จากความเสื่อมถอยของระบบความจำ ที่ทำให้เกิดความบกพร่องต่อการดำเนินชีวิตได้
“ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองหลายส่วน โดยสังเกตได้จากการเสื่อมถอยของระบบความจำ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความบกพร่องในการใช้ทักษะต่างๆ จนกลายเป็นอุป สรรคต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น การใช้ภาษา หรือการทำความเช้าใจในการสื่อ สาร รวมทั้งพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม อาการดังกล่าวนี้จะพบมากในผู้สูงอายุ โดยพบผู้ป่วยประมาณร้อยละ8 ในกลุ่มผู้มีอายุ 65 ปี ร้อยละ15 ในกลุ่มอายุ 75 ปี และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ40-50 ในกลุ่มอายุ 85 ปีขึ้นไป
ในการเกิดภาวะสมองเสื่อม อาจเกิดได้จากโรคหลายชนิด แบ่งกว้างๆ ได้เป็นสองประเภท คือ กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่สามารถรักษาให้หายขาด และกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด ต้องอาศัยการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งแบบที่ไม่หายขาดนั้น มีถึงร้อยละ 80 ในขณะแบบหายขาดมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่อาจรักษาให้หายขาดได้ มักมีสาเหตุจากภาวะเลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การขาดวิตามินบี12 ผลข้างเคียงจากการใช้ยา และโรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น ไทรอยด์ ส่วนสาเหตุของกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ และโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการใกล้เคียงกันอีก 5-6 ชนิด”
เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมเกิดจากหลายสาเหตุ การตรวจวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องทำอย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และนำไปสู่การวางแผนสำหรับการรักษา และกำหนดขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
“ในเบื้องต้นเราอาจสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วยได้จากความบกพร่องของระบบความจำ แต่การจะวินิจฉัยว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ จะต้องประเมินจากปัจจัยร่วมอื่นๆ ด้วย เช่น ระยะเวลาที่มีอาการแบบที่ค่อยเป็นค่อยไปเกิน 6 เดือน หรืออาการที่เกิดกับผู้ป่วยนั้นเป็นปัญหาในชีวิตประจำ วันหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์ยังต้องตรวจหาความบกพร่องที่แสดงถึงความเสื่อมถอยของศักยภาพการทำงานของสมองด้านอื่น เช่น การใช้ภาษา ความสามารถในการเรียนรู้ การใช้ทักษะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มาประ กอบการวินิจฉัยด้วย
สำหรับขั้นตอนการวินิจฉัย แพทย์จะใช้การซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยเฉพาะการสอบถามจากญาติ หรือผู้ดูแล เพราะในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จากนั้นจึงตรวจเลือด ประเมินการทำงานของสมอง และทำ MRI สมองโดยรวมอีกครั้ง เพื่อยืนยันภาวะสมองเสื่อม ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด จะทำให้แพทย์แยกแยะได้ว่า ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นนั้นจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่รักษาได้ หรือทำได้แค่ประคับประคองอาการ เช่น ผู้ป่วยที่เพิ่งมีปัญหาด้านระบบความจำภายใน 2-3 วัน อาจไม่ใช่อาการของโรคอัลไซเมอร์ แต่อาจเกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบ และเน้นการรักษาไปในทางนั้น ดังนั้น ในเบื้องต้นแพทย์จะต้องระบุสาเหตุให้ได้ก่อน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผนดูแลรักษา และให้ยาที่เหมาะสมเป็นลำดับต่อไป”
นพ.เขษม์ชัย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาดนั้น พบว่าเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 60-80 ส่วนใหญ่อาการจะปรากฏในช่วงอายุ 60-65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่เป็น อัลไซเมอร์ตั้งแต่อายุที่ยังน้อยกว่านี้ เป็นผลมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งพบไม่บ่อยนัก
“อัลไซเมอร์ เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เบต้าอะไมลอยด์” ที่ไปจับตัวกับเซลล์สมอง ทำให้สมองเสื่อมและฝ่อลงจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ตั้งแต่ระบบความจำ การเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม ซึ่งสามารถแบ่งอาการของอัลไซเมอร์ออกเป็นสามระยะ ได้แก่ ระยะแรก ที่ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนรู้สึกได้ด้วยตัวเอง อาจก่อให้เกิดความเครียด อารมณ์เสียง่าย และซึมเศร้า คนที่อยู่รอบข้างจะต้องทำความเข้าใจเมื่อสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย ระยะที่สอง อาการจะปรากฏชัดเจนขึ้น เพราะความจำของผู้ป่วยจะแย่ลงจนบางครั้งจำชื่อคนในครอบครัวไม่ได้ บางรายอาจมีอาการก้าวร้าวถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น ระยะนี้จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะผู้ป่วยจะเริ่มสับสน ที่สำคัญควรเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยออกจากบ้านเพียงลำพัง และให้อยู่ห่างของมีคม หรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดไฟได้ และระยะที่สาม ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลงจนไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว สุขภาพทรุดโทรมคล้ายเป็นโรคเรื้อรัง รับประทานได้ไม่มาก เคลื่อนไหวน้อยลงจนถึงขั้นไม่เคลื่อนไหวเลย เนื่องจากสมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ทำให้พูดน้อยลงเรื่อยๆ และมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจนติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย อันเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิต”
ทั้งนี้ ถึงแม้การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะทำได้เพียงแค่ประคับประคองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยาวนานขึ้น และยังสามารถป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ด้วย
“ถึงแม้ว่าการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะทำได้แค่ประคับประคองเพื่อยืดระยะอาการเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติต่อผู้ป่วย คือการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ดูแลถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินของโรคและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยผู้ดูแลต้องมีความรักและความเข้าใจ เตรียมความพร้อมในการเผชิญกับความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับการคิดค้นยารักษาอัลไซเมอร์ ที่คาดว่าอาจจะมียาที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้าก็ตาม แต่ผู้ดูแลและคนใกล้ชิดก็ไม่ควรคิดแต่จะพึ่งยา แต่ควรทำความเข้าใจกับโรคให้มาก ด้วยการหาความรู้เพิ่มเติม ปรึกษาแพทย์อย่างส่ำเสมอ เพื่อรับรู้ว่าตนจะต้องเจอกับอะไรบ้าง นอกจากนี้ ต้องเอาใจใส่กับการดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความอดทนสูง ใช้ความรัก ความอ่อนโยน ความเอาใจใส่เป็นที่ตั้ง และควรมีผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างน้อยสองคน ในการสลับสับเปลี่ยนกันดูแล เพื่อให้ผู้ดูแลได้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมพึงระลึกเสมอว่าอาการหรือพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ป่วยที่แสดงออกมานั้น ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วย แต่เป็นจากตัวโรคเอง”
|