แพทย์แนะนำ เตรียมตัวไปเที่ยว...แบบ (เบา)หวานๆ
category: Health
tag: diabetes โรงพยาบาลพระรามเก้า เบาหวาน
หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมานาน ถึงเวลาได้พักบ้างเที่ยวบ้าง เตรียมแพ็คกระเป๋าเสื้อผ้าของใช้ส่วนตัวก็วุ่นแล้ว แค่เอายากินไปให้ครบก็พอแล้วมั้ง “ไม่พอนะคะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน” ประการแรกก่อนไปเที่ยวบอกหมอก่อนนะคะ
พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลพระรามเก้า
พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลพระรามเก้า มีคำแนะนำดังนี้ แนะนำให้บอกหมอไม่ได้หมายความว่า จะมีการฝากซื้อของ หรือซื้อของฝาก มีเหตุผลค่ะ เพราะควรแน่ใจก่อนว่าโรคเบาหวานของคุณควบคุมได้ดี สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของปีนี้ล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนก่อนไปเที่ยว เตรียมตัวเผื่อฉุกเฉิน และให้ฝึกพูดไว้ค่ะ “I have diabetes” “Sugar or orange juice please” หรือฝึกภาษาท้องถิ่นประเทศนั้นๆ ตามความสามารถ และพกบัตรประจำตัวคนไข้ติดตัวไว้เสมอ อาจทำประกันสุขภาพ (travel insurance) ไว้ก่อนเดินทางด้วย
6 สิ่งสำคัญ ที่ต้องมีในกระเป๋าถือติดตัว
1.บัตรประจำตัวคนไข้ รายการยาที่ใช้ ชื่อยาที่แพ้ และหนังสือรับรองพกปากกาอินซูลินและเข็ม
2.ยากินโรคประจำตัว
3.ยาและปากกาอินซูลินพร้อมเข็มในกระเป๋าเก็บความเย็น หรืออุณหภูมิห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
4.เครื่องตรวจน้ำตาลและแถบเจาะ เผื่อแบตเตอรี่สำรองไปด้วย
5.ยาฉุกเฉิน เช่น ยาแก้ท้องเสีย คลื่นไส้ ยาปฏิชีวนะชนิดทากรณีมีบาดแผล และยาอื่นๆ ที่จำเป็น
6.อาหารแห้ง เผื่อกรณีน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น cracker biscuit ลูกอม ผลไม้อบแห้ง ผลไม้กวน หรือน้ำผลไม้ชนิดกล่อง
ขอย้ำว่า “เตรียมทุกอย่าง 2 เท่า” เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ “กระเป๋าถือต้องพกติดตัวตลอดเวลา” เช่น ถ้าเดินทางโดยรถ ห้ามวางไว้ในกระโปรงหลัง เพราะอุณหภูมิร้อนทำให้ยาเสื่อมสภาพ เวลาแวะพักกินข้าวระหว่างทาง ก็ต้องนำลงไปด้วย ไม่ควรทิ้งตากแดดไว้ในรถ กรณีเดินทางโดยเครื่องบินกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องอุณหภูมิความเย็นจัด ยาอินซูลินอาจถูก freeze เป็นน้ำแข็ง หรือกระเป๋าอาจสูญหายได้“Check-In”
นำหนังสือรับรองพกปากกาอินซูลิน หรือเครื่องเจาะตรวจน้ำตาลพร้อมเข็มแจ้งเจ้าหน้าที่ “On Board” ท่องเที่ยวระยะทางไกลข้าม time zone แนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง ปรับตารางเวลาเพื่อฉีดยาอินซูลิน โดยนำกำหนดการเดินทางไปด้วย การบินไปทางทิศตะวันออกทำให้วันสั้นลง จำนวนครั้งการฉีดแนะนำอย่าพึ่งปรับนาฬิกา ให้ใช้เวลาตามประเทศต้นทางก่อนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นที่ประเทศปลายทาง เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ควรรอจนได้เสิร์ฟอาหารของตนเองก่อนจึงฉีดอินซูลิน ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ ระหว่างเดินทาง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ควรตรวจน้ำตาลปลายนิ้วบ่อยๆ บนเครื่องบินและเมื่อถึงปลายทาง เพราะภาวะ Jet Lag ทำให้ระบุอาการน้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูงได้ยากขึ้น
ท่องเที่ยวอย่างมีความสุข ปรับปริมาณอาหารตามกิจกรรมที่ทำ เช่น ถ้าไปเดินเที่ยว ช็อปปิ้งน้ำตาลในเลือดจะลดลง ควรกินอาหารว่างก่อนประมาณ 1 Carbohydrate count (สามารถปรึกษาแพทย์ หรือโภชนากรได้) หากนั่งบนรถโค้ชทั้งวัน หรือนั่งประชุมสัมมนา ไม่ได้ใช้พลังงานมากก็ไม่ควรกินอาหารว่างมาก เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดจนเกินไป เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน ห้ามเดินเท้าเปล่า ก่อนนอนทุกคืนหมั่นตรวจดูแผล หรือรอยกด รอยช้ำที่เท้า
การเลือกสั่งอาหาร หากไม่แน่ใจส่วนผสมควรถามก่อน แนะนำเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มองหาคำว่า “fish” “grilled” “baked” “broiled” “poached” “roasted” หรือ “steamed” หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น “fried” “breaded” “buttered” “creamed” “scalloped” “with gravy” หรือ “thick sauce” เป็นต้น เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยด้วยภูมิอากาศ อากาศร้อนยาอินซูลินจะดูดซึมจากบริเวณที่ฉีดเร็ว ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น ระยะเวลาจากฉีดยาถึงเริ่มรับประทานอาหารควรเร็วขึ้น อากาศชื้นจะทำให้แถบเจาะน้ำตาลปลายนิ้วเสีย ค่าน้ำตาลอาจคลาดเคลื่อนหรือวัดไม่ได้ กลับจากการท่องเที่ยวสนุกสนานคงไม่มีใครอยากเข้าโรงพยาบาลจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ได้เอายาฉีดอินซูลินไปเที่ยวด้วย หรืออากาศร้อนมาก จึงกินน้ำหวานบ่อยๆ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือเดินเที่ยวจนหน้ามืด เหงื่อแตก ใจสั่น จะเป็นลม น้ำตาลต่ำอยู่บนกำแพงเมืองจีน หรือคนไข้เบาหวานชนิดที่หนึ่ง เว้นฉีดยาอินซูลินบนเครื่องบินเกินภาวะน้ำตาลสูงฉุกเฉิน DKA ต้องมานอน ICU แต่บางคนเที่ยวกลับมาแล้วเบาหวานดีขึ้นก็มีนะคะ เพราะว่าอยู่กรุงเทพไม่เคยเดินเยอะขนาดนี้ จึงได้รู้ว่าการออกกำลังกาย ช่วยควบคุมเบาหวานได้จริงๆ ได้ประสบการณ์ดีๆ จากการไปเที่ยวกันนะคะ
|