รวมมาให้ 9 ความเชื่อจริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม การปฏิบัติตัวช่วง COVID-19
category: Health
tag: COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลที่คุณรู้ ข่าวที่คุณเสพ โดยเฉพาะเนื้อหาที่แชร์ต่อ ๆ กันบนโลกออนไลน์แบบไม่มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป และสร้างความเข้าใจผิดได้
ดังนั้นรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ COVID-19 โดยมี ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยตอบคำถามไขข้อเท็จให้ทุกคนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ดังนี้
1. ฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัยแล้วนำมาใช้ต่อได้
ไม่จริง : การฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัยเป็นส่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะด้านหน้าของหน้ากากอนามัยมีการเคลือบสารกันซึมไว้ ดังนั้นการฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้คุณสมบัติของสารกันซึมนั้นเสื่อมประสิทธิภาพ เกิดการรั่วซึมและไม่สามารถป้องกันฝุ่นหรือเชื้อโรคได้
2. การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็น COVID-19
ไม่จริง : วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกัน COVID-19 ได้ และในขณะนี้วัคซีนของ COVID-19 ยังอยู่ในขบวนการศึกษาวิจัย ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงกับคน
3. ไม่มีไข้ก็สามารถเป็น COVID-19 ได้
จริง : ในระยะเริ่มต้นของโรคผู้ป่วยร้อยละ 50 อาจไม่มีไข้ได้ แต่หากเข้าสู่ระยะที่เป็นมากขึ้นหรือต้องนอนโรงพยาบาลผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 จะมีไข้ชัดเจน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าหากเป็นวันแรก ๆ การตรวจวัดไข้อาจไม่พบได้
4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสามารถป้องกัน COVID-19 ได้
ไม่จริง : การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเหมาะสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ คนที่มีอาการคัดจมูกหรือเป็นไซนัสอักเสบ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่บอกว่าการล้างจมูกจะช่วยป้องกัน COVID-19 ได้
5. การกินวิตามิน หรือสมุนไพร จะช่วยป้องกัน COVID-19
ไม่จริง : อย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่าในขณะนี้ไม่มีวิตามินหรือสมุนไพรที่ช่วยป้องกัน COVID-19 เพราะกำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัย ดังนั้นการกินวิตามิน หรือสมุนไพร ไม่สามารถช่วยป้องกัน COVID-19 ได้
6. หากกลั้นหายใจได้เกิน 10 วินาที แสดงว่าไม่เป็น COVID-19
ไม่จริง : การกลั้นหายใจไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็น COVID-19 หรือไม่ รวมถึงแอปพลิเคชัน หรือวิธีเช็กลิสต์ต่าง ๆ ที่ออกมาตามโซเชียลมีเดีย ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ต้องดูที่อาการและความเสี่ยงที่เข้าเกณฑ์เป็นหลัก
7. คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95
จริง : หน้ากาก N95 ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนทั่วไปใส่ในชีวิตประจำวันหรือใส่เป็นเวลานาน ๆ เพราะเป็นหน้ากากที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรคได้สูง เมื่อใส่นาน ๆ จะเกิดความอึดอัด ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็น COVID-19 ส่วนคนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่ไม่ป่วยสามารถใช้หน้ากากผ้าได้ เพราะประหยัดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้
8. หากเคยเป็น COVID-19 แล้วร่างกายจะมีภูมิต้านทาน
จริง : COVID-19 คือการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งตามหลักการทั่วไปของการติดเชื้อไวรัสนั้น หากหายดีแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานต่อโรคนั้น ๆ ป้องกันการกลับเป็นโรคซ้ำ แต่ในอนาคตต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพราะหากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ก็อาจมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้
9. ล้างมือด้วยสบู่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเจลแอลกอฮอล์
ไม่จริง : การล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไปนั้นมีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้เท่าเทียมกัน แต่การล้างมือด้วยสบู่มีข้อดีกว่าเล็กน้อยเพราะจะสามารถล้างได้สะอาดและหมดจดกว่าเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะถ้ามื้อเปื้อน ส่วนเจลแอลกอฮอล์จะเหมาะสำหรับการพกพาใช้ระหว่างวันเพราะสะดวกกว่า
ข้อมูลโดย ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คลิกชมรายการได้ที่ : https://youtu.be/n33qb81JqC0
|