ลดน้ำหนักอย่างไรไม่ให้ตบะแตก
category: Diet & Exercise
tag: ลดน้ำหนัก ตบะแตก
เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นชินกับอาการ “ตบะแตก” ขณะลดน้ำหนักกันมาแล้วนะคะ อุตส่าห์ควบคุมอาหารมาเกือบทั้งวัน ตกเย็นกลับสวาปามข้าวขาหมูเสียเต็มคราบ หรือควบคุมอาหารมาได้ครบเดือน พอไปงานปาร์ตี้พบเพื่อนเก่า ๆ ก็ร่วมกวาดอาหารทุกจานบนโต๊ะเสียจนเกลี้ยง
และแทบทุกคนจะเกิดความรู้สึกผิด ทำไมฉันควบคุมตัวเองไม่ได้ พร้อมกับคิดปลอบใจตัวเองว่า “ เอาน่า มื้อนี้มื้อเดียว พรุ่งนี้จะควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม”
เอาละค่ะ ก่อนที่จะมาหาวิธีป้องกันอาการ “ตบะแตก” เราคงต้องพูดกันถึงเรื่องแรงจูงใจกันก่อน การควบคุมน้ำหนักจะสำเร็จด้วยดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับ “ใจ” เป็นสำคัญ คนที่ทำได้จริงต้องมีแรงจูงใจมากพอที่จะยอมลด ละ นิสัยที่เป็นความสุขความสบายที่เคยชิน ต้องใช้ความอดทน ฝืนทน และทำอย่างต่อเนื่อง แรงจูงใจที่มีพลังผลักดันสูงต้องเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิต ยกตัวอย่างแรงจูงใจที่ดีของคนที่ลดน้ำหนักได้สำเร็จ เช่น ลดน้ำหนักเพื่อลูก (สุขภาพจะได้ดี และมีชีวิตอยู่กับลูกได้นานขึ้น) ลดน้ำหนักเพราะกลัวป่วย กลัวเจ็บ กลัวตาย (ไม่อยากเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่อยากกินยาไปตลอดชีวิต) ลดน้ำหนักเพื่อเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวในงานแต่งงานที่กำลังจะมาถึง ลดน้ำหนักเพื่อออกงานสำคัญ ลดน้ำหนักเพื่อลดคำปรามาสของคนใกล้ตัว ลดน้ำหนักเพราะอยากได้งานประเภทที่ไม่ต้องการคนน้ำหนักเกิน เป็นต้น
ถ้าแรงจูงใจของคุณมีพลังผลักดันสูง ความเป็นไปได้ที่จะลงมือลดน้ำหนักก็จะสูงตามไปด้วย
ตอนลงมือลดน้ำหนักเป็นช่วงที่คุณต้องใช้ “พลังใจ” เพื่อควบคุมความอยากของตนเอง(อยากทานอาหารอร่อย ๆ อยากกินไป นอนดูทีวีไป อยากดื่มน้ำอัดลมรสซาบซ่าให้สดชื่นคลายร้อน อยากทานเค้กรสกลมกล่อม) แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหมดพลังใจ(ego depletion) คุณจะใช้อารมณ์แทนเหตุผลทันที “ก็ฉันอยากทาน ฉันก็จะทาน” “ทำไมต้องอดให้ทรมานตัวเอง” “กินดีกว่า เพราะกินแล้วมีความสุข” การควบคุมตัวเองจะอ่อนแรงลง ทำให้คุณพ่ายแพ้ต่อความอยากของตัวเอง
อาการ “ตบะแตก” จึงมักเกิดขึ้นเมื่อคุณหมดพลังใจ ดังนั้น ในระหว่างลดน้ำหนักสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่
• หลีกเลี่ยงการแหกกฎที่ตั้งใจเอาไว้ แม้ว่าจะเป็นการแหกกฎเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม ยกตัวอย่าง คุณตั้งกฎไว้กับตัวเองว่า จะไม่ทานอะไรหลังหกโมงเย็นไปแล้ว ก็ต้องทำให้ได้จริง ๆ มีการทดลองทางจิตวิทยาพบว่า ถ้าคุณแหกกฎแค่การกินผลไม้สักจาน หรือแค่ดื่มน้ำหวานสักแก้ว ก็จะทำให้คุณเลยเถิดไปถึงการทานมันฝรั่งทอดกรอบได้อีก 1 จานอย่างง่ายดาย เพราะการละเมิดกฎเกณฑ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีผลทำให้คุณหมดพลังที่จะควบคุมตัวเอง แล้วยอมจำนนต่ออาหารอื่น ๆ ที่เย้ายวนใจให้ลิ้มลอง นำไปสู่การทานอาหารมื้อใหญ่ตามมา ดังนั้น เวลาตั้งกฎเกณฑ์ในการลดน้ำหนัก ให้ตั้งกฎที่คุณสามารถทำได้จริง ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับเป้าหมายหรือกฎเหล็กให้สูงขึ้นภายหลัง
• อย่าปล่อยตัวเองให้อยู่ในสภาพ “อ่อนเปลี้ยเพลียแรง” เช่น รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนระโหย เหงาและเศร้า เพราะสภาพดังกล่าวจะทำให้คุณพ่ายแพ้ต่ออาหารตรงหน้าได้อย่างรวดเร็ว คุณจะยอมปล่อยให้ตัวเองทานในสิ่งที่อยากทาน มีการทดลองทางจิตวิทยาอีกเหมือนกันที่พบว่า เมือใดก็ตามที่คนเราทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำงานที่ต้องใช้หัวคิดมาก ๆ ต้องตัดสินใจสำคัญ ๆ ต้องควบคุมตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันจะทำให้พลังใจของคนเราร่อยหรอลง และผลักดันให้คนเราหันกลับมาทำตามสัญชาติญาณที่ทำเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับตนเอง ดังนั้น ในการลดน้ำหนัก เขาถึงพยายามบอกว่าอย่าลดน้ำหนักแบบหักโหม เช่น อดอาหารที่เคยชอบแบบหักดิบ (ต้องใช้การควบคุมตัวเองตลอดเวลา ทำให้คุณอ่อนเปลี้ย และเพลียใจ) ออกกำลังกายหนัก ๆ การนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ออกไปเดินเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ(สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึก “โหย” ) ซึ่งทำให้สภาพร่างกายและจิตใจของคุณเข้าสู่ภาวะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงได้ง่าย คุณจะรู้สึกหมดแรงที่จะควบคุมความปรารถนาของตนเอง และทำให้คุณเข้าสู่โหมดของอาการ “ตบะแตก” ได้ง่ายเช่นกัน
• หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอาหารที่ชอบมากเป็นพิเศษในขณะที่กำลังลดน้ำหนัก คนที่ชอบชีสเค้ก ก็อย่าเพิ่งเข้าร้านเบเกอรี่ คนที่คลั่งไคล้ข้าวโพดคั่วก็ให้ออกห่างโรงภาพยนตร์ และตู้ขายป๊อบคอร์น รวมทั้งไม่เอาของชอบมาเก็บสะสมไว้ในตู้เย็น ตู้กับข้าวด้วยนะคะ
• หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารในขณะที่กำลังหิวโซ ซึ่งเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อภาวะหมดการควบคุมตนเอง และยอมพ่ายแพ้ต่อแรงปรารถนาที่มีต่ออาหาร
ความสำเร็จในการลดน้ำหนักต้องใช้ “พลังใจ” เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องดูแล “พลังใจ” ของคุณให้ดีค่ะ มิเช่นนั้น คุณอาจยอมแพ้เอาง่าย ๆ แล้วจะไปไม่ถึงฝั่งฝันนะคะ
ขอบคุณบทความจากSlimming โดยคุณอมรากุล. อินโอชานนท์
|