ใยอาหาร...ดีจริงหรือ
category: Diet & Exercise
tag: ใยอาหาร สุจิตต์ สาลีพันธ์ ผัก ผลไม้
ในแวดวงของนักดูแลสุขภาพ.จะมีคำแนะนำว่าต้องทานอาหารที่มีใยอาหารเพื่อจะทำให้อิ่มนาน ซึ่งอาหารเหล่านี้ให้พลังงานน้อยมาก ส่งผลดีทำให้น้ำหนักลดลงได้
อย่างไรก็ตามเราทราบกันดีอยู่แล้ว่าคงไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะดีไปทั้งหมด เช่นเดียวกับเรื่องของอาหารและโภชนาการ ถ้าเราไม่เข้าใจก็อาจจะเกิดผลเสียได้
ดังนั้น รู้จักกับใยอาหารกันค่ะ “ใยอาหาร” หมายถึงส่วนประกอบของพืชที่รับประทานได้ และคาร์โบไฮเดรตประเภทเดียวกันที่ไม่ถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แต่อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดกรดไขมันสายสั้น ๆ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และกรดไขมันเหล่านี้ร่างกายสามารถดูดซึมได้และใช้เป็นพลังงานของเซลล์ลำไส้ใหญ่ตอนปลาย
แบ่ง “ใยอาหาร” ออกเป็น 2 กลุ่ม
1) ใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ
2) ใยอาหารที่ละลายน้ำ
ใยอาหาร ทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีประโยชน์ต่อร่างกายเราทั้งนั้น คือ
- ใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) ในเลือด โดยไปจับกับน้ำดี ซึ่งมีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบและจะถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง และมีผลทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงลดลงได้
- ใยอาหารชนิดละลายน้ำนี้ยังช่วยทำให้การย่อยและการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตจากอาหารช้าลง ทำให้น้ำตาลดูดซึมเข้ากระแสเลือดช้าลง และมีผลช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของอิสซูลินอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลดีสำหรับ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้
- ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายทำให้ไม่เกิดอาการท้องผูก โดยการเพิ่มปริมาณหรือมวลของอุจจาระ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น และยังลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย
ใยอาหารพบได้ที่ไหน
แหล่งอาหารที่พบใยอาหาร คือ พืชผัก และผลไม้ ธัญพืช โดยเฉพาะธัญพืชทั้งเมล็ด ถั่วเมล็ดแห้ง และเมล็ดพืชต่าง ๆ
ผลไม้ ผลไม้สดที่มีน้ำตาลและน้ำในปริมาณมากจะมีใยอาหารค่อนข้างต่ำ เพื่อให้ได้รับใยอาหารจากผลไม้มากขึ้น ผลไม้บางชนิด เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ควรบริโภคทั้งเปลือก เพราะการคั้นเอาแต่น้ำจะเหลือใยอาหารปริมาณน้อยลง
ผัก ผักสดที่มีปริมาณน้ำมากจะมีปริมาณใยอาหารน้อย เช่นเดียวกับผลไม้ รวมทั้งการตัดแต่งผักก่อนปรุงอาหารเท่าที่จำเป็นจะเป็นการช่วยรักษาปริมาณใยอาหารไว้ได้
ธัญพืช ธัญพืชทั้งเมล็ด เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาเลย์ มีใยอาหารมากกว่าผักและผลไม้
ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ จะใยอาหารสูง ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ เมล็ดทานตะวัน
เราจะกินใยอาหารในปริมาณเท่าไร
การรับประทานใยอาหารตามปริมาณที่แนะนำ จากปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2546 โดยคณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้ดังนี้
เด็ก ควรได้รับใยอาหารต่อวัน เท่ากับ จำนวนอายุเป็นปี +5 กรัมต่อวัน
ผู้ใหญ่ ควรได้รับใยอาหารต่อวัน เท่ากับ 25 กรัมต่อวัน
สำหรับการรับประทานใยอาหารในปริมาณสูงสุดนั้นยังไม่มีการกำหนดไว้ เพียงแต่ถ้าใครบริโภคมากเกินไปอาจจะมีการขัดขวางการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดไว้ และอาจจะเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่นบางท่านไม่เคยบริโภคใยอาหารเลย แต่ปรับเปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่มีใยอาหารมากในทันที อาจจะเกิดอาการท้องเสีย หรือท้องอืด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของแก๊ส และการสร้างกรดไขมันสายสั้นในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาการนี้จะเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้ายังมีอาการอยู่อาจจะต้องลดปริมาณลง ดังนั้น ถ้าท่านจะปรับเปลี่ยนการบริโภคคงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ระบบทางเดินอาหารได้มีการปรับตัว
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารชนิดใด ๆ ก็ตามเพื่อให้ได้สารอาหารหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องคำนึงถึงสารอาหารตัวอื่นที่จะได้รับอีกด้วย เช่น น้ำตาลอาจจะมากด้วย คือ เราต้องนึกถึงความพอดีด้วยนั่นเอง
ขอบคุณบทความจากนิตยสาร Slimming โดยคุณสุจิตต์ สาลีพันธ์
|