20 ข้อเรื่องอาหารการกินที่ควรรู้ในหน้าร้อน
category: Diet & Exercise
เรื่องกินเรื่องใหญ่ แต่จะดูแลยังไงให้ปลอดภัยไร้กังวล มารู้กันหน่อยสิ
- ความร้อนทำให้ความอยากลดลง
เวลาอากาศร้อนมากๆ จะทำให้ความอยากอาหารลดลง แต่จะอยากดื่มน้ำเย็นๆ หรืออาหารเย็นๆ มากขึ้น
- เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องดูแลเป็นพิเศษ
เพราะเมื่ออาการอยากอาหารน้อยลง หมายความว่ากินน้อยลง พัฒนาการต่างๆ ด้อยลง อาจไม่ถึงกับเกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโต แต่จะส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจ และพัฒนาการสมอง สำหรับผู้สูงอายุ ต้องการสารอาหารเพื่อชะลอการเสื่อมโทรมของร่างกาย
- การอาบน้ำช่วยได้
การอาบน้ำให้เย็นตัว เย็นใจ แล้วมารับประทานอาหาร จะช่วยให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- โรคที่มากับหน้าร้อน
เมื่อเข้าฤดูร้อน เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอ เป็นต้น
- เชื้อโรคที่เจริญเติบโตในหน้าร้อน
ที่รู้จักกันดี คือ แบคทีเรีย ไวรัส ยีสต์ เชื้อรา โดยตัวสำคัญที่ทำให้เกิดอันตรายมาก คือ แบคทีเรีย ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แบคทีเรียส่วนใหญ่เจริญได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 35-37 องศาเซลเซียส บางชนิดสามารถเจริญได้ดีที่อุณหภูมินอกเหนือจากนี้ด้วยเช่นกัน
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากในหน้าร้อน
เพราะร่างกายจะมีเหงื่อมาก การมีเหงื่อเป็นกระบวนการที่ร่างกายช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำจำนวนมากกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อชดเชยกับน้ำที่สูญเสียไป
- เครื่องดื่มสมุนไพรทำให้สดชื่น
เช่น น้ำตะไคร้ น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำใบสะระแหน่ น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น กลิ่นของสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น และในสมุนไพรมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยทำให้เราแก่ช้าลง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคน้อยลงด้วย เพราะสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ แต่ระมัดระวังอย่าเติมน้ำตาลให้หวานมาก ควรเติมน้ำตาลให้น้อยที่สุด หรือไม่ต้องเติมเลยจะเป็นการดี
- เครื่องดื่มที่อาจส่งผลเสีย
ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนนิยมดื่มน้ำที่มีการปรุงแต่งรสชาติ เช่น ชาเย็น ชานมไข่มุก หรือกาแฟ รวมไปถึงน้ำอัดลมเยอะขึ้น ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้แม้จะสามารถดับกระหายได้ แต่ผลเสียที่ตามมามีอันตรายมากกว่าที่คิด
- เนื้อสัตว์และไขมันไม่ได้ทำให้ร่างกายร้อนมากขึ้น
ในเชิงวิชาการ เนื้อสัตว์และไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าผักและผลไม้ เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่ในผัก ผลไม้ จะเป็นน้ำ เป็นวิตามิน แร่ธาตุที่ไม่ได้ให้พลังงาน รวมทั้งใยอาหารที่ร่างกายย่อยไม่ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่พบรายงานว่ารับประทานเนื้อสัตว์และไขมันมากจะทำให้ร่างกายร้อนมากขึ้น เพราะร่างกายจะมีกลไกที่ขจัดความร้อนส่วนเกินออกจากร่างกายอยู่แล้ว
- อาหารประเภทเนื้อสัตว์เสียง่าย
อาหารประเภทนี้มีความเสี่ยงของจุลินทรีย์มาก เพราะเป็นอาหารที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ด้วย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อดิบ ตั้งอยู่ที่อุณหภูมิห้องนานเกินไป ให้รีบนำเข้าแช่เย็น หรือแช่แข็งให้เร็วที่สุด
- ควรลดปริมาณการรับประทานแป้ง และน้ำตาลลง
แต่ไปเน้นพวกผัก ผลไม้มากๆ เพราะในอาหารกลุ่มนี้จะมีปริมาณน้ำมาก และมีวิตามินสูง นอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นมากขึ้นด้วย ส่วนอาหารกลุ่ม ไขมัน ควรรับประทานในปริมาณเล็กน้อย
- เมนูอาหารที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในหน้าร้อนมากที่สุด
ได้แก่ ลาบ ก้อยดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง ข้าวผัดโรยเนื้อปู ของหวาน หรือขนมครกที่ราดด้วยกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็ง
- อย่ากินอาหารที่ผ่านความร้อนน้อยหรือมีการปรุงสุกๆ ดิบๆ
อาทิเช่น อาหารประเภทลาบ ยำ พล่า ส้มตำ สลัด และอาหารประเภทที่มีกะทิเป็นส่วนผสม โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิสด เช่น ลอดช่อง ขนมครก มักจะมีการบูดเสียได้ง่าย
- บริโภคน้ำแข็งในช่วงหน้าร้อน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เพราะบางครั้งผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าใช้น้ำที่มาจากแหล่งที่สะอาด หรือมีคุณภาพดีพอหรือไม่
- กินให้ปลอดภัยมีหลักการง่ายๆ
สามารถนำไปปฏิบัติได้เลยทันที คือ เลือกรับประทานอาหารที่น่าจะมีเชื้อโรคน้อย กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- อาหารควันฉุย
ลักษณะของอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ มีความร้อน และมีควันฉุย แสดงว่ามีการใช้ความร้อนค่อนข้างสูง น่าจะสามารถทำลายเชื้อโรคได้หมด
- การใช้ความร้อนในอาหาร ควรใช้ความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส หรือหากจะให้ดีใช้อุณหภูมิประมาณ 90 องศาเซลเซียส ให้เดือดไปเลยก็ได้
- ก๋วยเตี๋ยวน้ำ VS ข้าวราดแกง
ควรเลือกอาหารที่ปรุงร้อนๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ หรือก๋วยเตี๋ยวผัด แทนที่จะเป็นข้าวราดแกงที่เย็นชืด หรือขนมจีนแกงไก่ที่ตั้งไว้นานจนแกงเป็นไข
- อาหารทะเลต้องระวัง
ปลา ปู ปลาหมึก หอย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในน้ำมีจุลินทรีย์อยู่มาก เมื่อใช้ความร้อนไม่เพียงพอ จุลินทรีย์จะยังคงเหลืออยู่ได้
- อาหารสด ควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน หรือก่อนนำไปประกอบอาหาร เพื่อลดจุลินทรีย์และสิ่งสกปรกให้เหลือน้อยที่สุด
ไม่ว่าฤดูกาลไหนๆ ร่างกายก็ต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน จึงต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีความหลากหลาย
|