อิทธิพลที่มีผลต่อน้ำหนัก
category: Diet & Exercise
สิ่งสำคัญที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมี 3 ประการหลัก ๆ คือ
ด้านชีววิทยา สภาพร่างกายของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน คนบางคนอ้วนง่าย แม้จะทานไม่มาก แถมยังลดน้ำหนักได้ยากกว่าคนอื่น ๆ อีกด้วย อาจเป็นเพราะสาเหตุจากฮอร์โมน เช่น มีฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานน้อย มีเทสโทสเตอโรนน้อยก็จะทำให้อ้วนง่าย เพราะเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและระบบการเผาผลาญเช่นกัน
สิ่งแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิต มีอยู่สองจำพวกค่ะ คือพวกนั่ง ๆ กิน ๆ นอน ๆ ไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างคนทำงานนั่งโต๊ะยุคไอทีที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมง หรือพวกที่มีความเครียดสูง ๆ จะทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นเซลล์ให้เก็บกักไขมันไว้ในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล หรือพวกที่อดนอน นอนไม่พอจะทำให้ระบบการดูดซึมสารอาหารของร่างกายลดลง มีผลทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานลดลงด้วย ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก มีงานวิจัยจากประเทศสวีเดนพบว่าการอดนอนเพียงคืนเดียว ก็ทำให้กระบวนการเผาผลาญของร่างกายชะลอลงในวันรุ่งขึ้น ร่างกายจะลดระดับการใช้พลังงานและการย่อยอาหารลงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ได้นอนเต็มอิ่ม
ลักษณะอาหารที่บริโภค ไม่ใช่เฉพาะปริมาณอาหารเท่านั้นที่มีผลต่อความอ้วน แต่น้ำมัน เครื่องปรุงต่าง ๆ ก็มีผลต่อร่างกายของคน เช่น มีงานวิจัยพบว่าคนผิวดำในย่านชุมชนแออัดในประเทศอเมริกามักเป็นโรคอ้วน เพราะทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันทรานส์ (trans fat) ซึ่งราคาถูก มีอยู่ในน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง เนยเทียม เนยขาว มีผลทำให้ผู้บริโภคมีน้ำหนักและไขมันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นไขมันแปรรูป จึงย่อยสลายได้ยาก นอกจากทำให้อ้วนแล้ว ยังทำให้การทำงานของตับผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ไขมันทรานส์มีอยู่ในขนมขบเคี้ยว ขนมเบเกอรี่ และอาหารฟาดฟู้ดต่าง ๆ จะซื้ออะไรทานลองดูฉลากนะคะว่ามีส่วนประกอบของ กรดไขมันชนิดทรานส์ หรือhydrogenated oil หรือ partially hydrogenate oil หรือไม่ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ คนเราส่วนใหญ่มักนับแคลอรีอาหารที่ทานเข้าไปต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ
มีการศึกษาชีวิตอดีตนักกีฬาที่มีรูปร่างแข็งแรง สมส่วน เมื่อคนเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เล่นกีฬาไม่ได้ แต่ทานอาหารในปริมาณเท่าเดิม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มรวดเร็วมากจาก 150 กว่าปอนด์ขึ้นไปเป็น 420 ปอนด์อย่าง นามดี เลอบลังค์(Namdi Le Blanc) เขาเป็นนักวิ่งเมื่ออายุ 18 ปี ก่อนไปสมัครเป็นทหาร ต่อมาได้รับบาดเจ็บ จึงเล่นกีฬาไม่ได้ หรือนักมวยปล้ำที่ชื่อแมนนี่ เมื่อก่อนเขาเคยหนักสองร้อยกว่าปอนด์ด้วยความสูงหกฟุตกว่า แต่ปัจจุบันเขาหนักถึง 700 กว่าปอนด์ ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดออกกำลังกายโดยสิ้นเชิง
และเป็นข่าวร้ายสำหรับเพศชายค่ะ เพราะมีการศึกษาพบว่าผู้ชายที่น้ำหนักเกินจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้หญิงจะเก็บไขมันไว้ใต้ผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ชายไขมันจะถูกกักเก็บไว้ใต้ผนังของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต หัวใจ ก็มีผลทำให้อวัยวะต่าง ๆ ดังกล่าวมีปัญหาไปด้วย
แต่ไม่ว่าหญิงหรือชาย การมีน้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้ความสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง มีผลต่อกระดูก เกิดอาการซึมเศร้า สิวขึ้น ตาบอด อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในผู้ชาย นอนไม่หลับ เป็นโรค sleep apnea คือนั่งอยู่เฉย ๆ ก็หลับผล็อยไป ไขมันที่พอกตามบริเวณคอจะปิดทางเดินหายใจ คนอ้วนจึงมักหลับไม่สนิท กรนเวลาหลับ ได้รับออกซิเจนน้อย หัวใจเต้นแรงขึ้นและทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจจึงหนา และยิ่งหนาก็ยิ่งต้องบีบตัวทำงานหนักขึ้น เวลาเดินโครงกระดูกต้องแบกรับน้ำหนักตัวทุกย่างก้าว ซึ่งจะไปกดเข่า ข้อเท้า ทำให้กระดูกข้อต่อบางลงและเกิดอาการปวดตามมา สิ่งเหล่านี้เป็นวงจรทำให้ฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุล เป็นผลให้ร่างกายมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าจะคุมน้ำหนักต้องประเมินทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นด้วยค่ะ คือ สภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อมกับวิถีการดำเนินชีวิต และลักษณะอาหารที่บริโภค และที่ต้องระวังให้มากคือ 97% ของคนที่ลดน้ำหนักจะกลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ภายในห้าปี แม้จะพยายามจำกัดอาหารอย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างกายจะสร้างแรงจูงใจเพื่อปกป้องตัวเอง โดยสมองจะปล่อยฮอร์โมนความรู้สึกอยากอาหารแคลอรี่สูง เพื่อต่อสู้กับความขาดแคลนอาหารเมื่อครั้งลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายกำหนดระดับการบริโภคไว้สูงกว่าเดิม เป็นผลให้คนเราทานมากขึ้น จึงต้องมีสติและระมัดระวังในจุดนี้ให้มาก ๆ ค่ะ
ขอบคุณบทความจาก นิตยสารslimming โดย คุณอมรากุล อินโอชานนท์
|